พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล) (พ.ศ. ๒๓๖๓-๒๔๓๑)

พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล) (พ.ศ. ๒๓๖๓-๒๔๓๑)

พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล)

(พ.ศ. ๒๓๖๓-๒๔๓๑)

 

พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี เป็นนักสีซอสามสายฝีมือดีคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อเดิมว่า “ตาด” เป็นบุตรชายคนเล็กของ พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) และคุณหญิงเย็น เกิดที่บ้านเดิมของสกุล อมาตยกุล ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เมื่อวันศุกร์ ปีมะโรง เดือน ๘ พ.ศ. ๒๔๖๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ 

เริ่มเรียนหนังสือในบ้านตั้งแต่เล็ก จนพอด่านออกเขียนได้ แล้วถวายตัวเป็นมหาดเล็กรายงาน ในรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้สนใจเล่นดนตรีมาแต่เล็กเพราะที่บ้านของท่านบิดาชอบเล่นเครื่องสายเป็นงานอดิเรกในยามว่าง เนื่องจากบิดาคุ้นเคยกับครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) จึงได้ต่อเพลงจากครูมีแขกโดยเรียนซอสามสาย  

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายไปรับราชการในวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นนายราชจินดา แล้วเลื่อนเป็นจมื่นอินทรเสนา ปลัดกรมพระตำรวจ ระหว่างที่อยู่ในวังหน้านี้เองได้ร่วมเล่นดนตรีกับวงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งครูมีแขกเป็นนายวงอยู่ 

ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้ย้ายมาสังกัดเป็นข้าราชการวังหลวงเป็นที่พระวิชิตณรงค์ เจ้ากรมตำรวจ ในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ เนื่องจากมีความสามารถเรียนรู้วิชากฎหมายและภาษาต่างประเทศ จึงย้ายไปรับหน้าที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศแทนหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ซึ่งไปราชการ ณ ทวีปยุโรป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ หน้าที่ราชการอยู่ในกรมท่าเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ  

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเจริญราชไมตรี แล้วเป็นผู้ทำสัญญาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศออสเตรียและสเปน ซึ่งเป็นการทำสัญญาในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ ต่อจากนั้นอีก ๔ ปี ในพ.ศ. ๒๔๑๖ ได้เดินทางไปยังเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เพื่อทำสัญญากับกงศุลเยนเนอราล อังกฤษ เรื่องการปกครองแคว้นเชียงใหม่ เชียงตุง รับราชการอยู่ต่อมาจน พ.ศ. ๒๔๒๘ จึงได้เป็นพระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี ผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ อันเป็นเกียรติยศสูงสุด 

ในด้านการดนตรีเป็นผู้ใฝ่ใจและหมั่นฝึกซ้อมซอสามสายจนเชี่ยวชาญมาก เมื่อจะต่อเพลงกับครูมีแขก ครูมีจะต้องตัดลิ้นปี่ไว้เป็นพิเศษ เพราะเกรงเสียงปี่จะแพ้เสียงซอ พระยาธรรมสารนิติเป็นคนถนัดซ้าย จึงสีซอด้วยมือซ้าย ซอของท่านจึงเป็นซอกลับทาง เล่ากันว่า สามารถขับร้องเพลงได้ไพเราะและสีซอสามสายคลอเสียงร้องของตัวเองได้อย่างชำนิชำนาญยิ่ง มีนิ้วซอเด็ด ๆ อยู่หลายนิ้วที่ใช้เทคนิคสูง และหวงมาก ใครจะขอต่อต้องเสียเงินหนึ่งชั่ว (๘๐ บาท) จึงเรียกกันว่า “นิ้วชั่ง” ความสามารถในเชิงซอสามสายนี้ พระยาประสานดุริยางค์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้เล่าต่อมาจนถึง พระยาภูมีเสวิน ว่าเมื่อครั้งท่านยังเป็นนายแปลก กลับมาจากเล่นดนตรีที่เมืองอังกฤษ พระยาธรรมสารนิติฯ ได้ขอพบเพื่อฟังเสียงปี่เพราะมีคนลือว่า เป่าปี่ดีเท่าครูมีแขก พระยาประสานฯ ไปพบพระยาธรรมสารนิติ ฯ ครั้งไรก็ตัดลิ้นปี่เป็นพิเศษ เพราะกลัวเสียงปี่จะแพ้เสียงซอของพระยาธรรมสารนิติฯ 

ชีวิตครอบครัวแต่งงานครั้งแรกมีภรรยาชื่อทิม ไม่มีบุตร เมื่อคุณทิมถึงแก่กรรมได้น้องสาวคุณทิม ชื่อ คุณหญิงอิ่ม เป็นภรรยาเอก มีบุตรหลายคนแต่ที่เป็นนักสีซอสามสายเป็นบุตรคนสุดท้อง ชื่อประคอง ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมมโหรี ในรัชกาลที่ ๕ ตอนต้นรัชกาล

บุตรีอีกคนหนึ่งเกิดจากภรรยาน้อยชื่อ คุณหนูเป็นนักร้องและนักดนตรีสีซอด้วง ซออู้ไพเราะนักเป็นสตรีไทยรุ่นแรก ๆ ที่หัดสีไวโอลินของฝรั่งจนสามารถเดี่ยวเพลงต่าง ๆ ได้มาก 

ทางซอสามสายของพระยาธรรมสารนิติ ฯ (ตาด) ได้ต่อให้เจ้าจอมประคองในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้ต่อให้แก่ พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (ประสงค์ อมาตยกุล) ผู้เป็นหลาน และได้สืบต่อมายังนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล จนถึง อาจารย์อารดา (สุมิตร กีระนันทน์)  ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานการเขียนหนังสือเล่มนี้ 

พระยาธรรมสารนิติ ฯ (ตาด) ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๑ รวมอายุได้ ๖๘ ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศ ในปีต่อมา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพด้วย

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก หนังสือบรรพบุรุษสกุลอมาตยกุล ของนายตรี อมาตยกุล พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาปฏิภาณพิเศษ และจากคำบอกเล่า ร.ท.พิศ อมาตยกุล)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.