นิภา อภัยวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๑)

นิภา อภัยวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๑)

นิภา อภัยวงศ์

(พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๔๑)

 

ครูนิภา เป็นบุตรคนที่ ๒ ของครูหรั่ง และนางเจียม พุ่มทองสุก เกิดที่บ้านคลองบางแวก ธนบุรี เมื่อวันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ปลายแผ่นดินรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๑๒ คน เฉพาะที่เป็นนักดนตรีไทย มีน้องสาว ๓ คน ชื่อ แฉล้ม สุวรรณเกศ เฉลา และเฉลียว เคยประจำวงเครื่องสายหญิงของพระสุจริตสุดาพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและมีน้องชายเป็นนักดนตรีอีก ๒ คน ชื่อ ราศี ชำนาญทางปี่พาทย์ เคยสังกัดอยู่วงดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ น้องชายคนเล็ก ชื่อ สะอาด ชำนาญทางปี่พาทย์ ซึ่งได้ภรรยาเป็นนักแสดงจากบ้าน “นราศิลป์” 

เมื่อแรกเกิด บิดาให้ชื่อว่า ”ทองคำ” และเนื่องจากบิดาเป็นนักดนตรี เคยใกล้ชิดกับพระยาราชภัคดี (โค สุจริตกุล) มาตั้งแต่ยังหนุ่ม พระยาราชภัคดี นี้มีวงเครื่องสายและตัวท่านเองชำนาญการสีซอด้วง พระยาราชภัคดีมีบุตรชื่อ ปลื้ม ซึ่งต่อมารับราชการเป็นอธิบดีศาลยุติธรรม มีบรรดาศักดิ์ เป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีได้ชวนครูหรั่งให้มาอยู่ด้วยที่บ้านปากน้ำภาษีเจริญ ครูนิภา จึงย้ายตามบิดามาอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีตั้งแต่อายุน้อยมาก 

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี มีบุตรี คนใหญ่กับท่านผู้หญิงไล้ ชื่อ เปรื่อง ซึ่งชำนาญการขับร้องเพลงไทย คุณเปรื่อง ได้เห็นครูนิภามาตั้งแต่เริ่มหัดร้องเพลงซึ่งครูหรั่งหัดให้ตั้งแต่อายุได้ ๕ ขวบ ก็มีความเมตตา จึงขอต่อครูหรั่ง ให้ ด.ญ.ทองคำ มาเป็นลูกเลี้ยง เมื่อผูกข้อมือรับเลี้ยงเป็นลูกแล้ว ก็เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “ประคอง” (ส่วนชื่อนิภา นี้ มาเปลี่ยนหลังจาก พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อมีการปฏิวัติทางวัฒนธรรมไทย) ต่อมา คุณเปรื่องได้รับราชการฝ่ายในเป็นที่พระสุจริตสุดา พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูนิภาจึงย้ายเข้าไปอยู่ในวังด้วย ได้เริ่มเรียนหนังสือเรียนดนตรีไทยจากครูผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิเช่น เรียนขับร้องจาก คุณแม่เจริญ พาทยโกศล เรียนเพลง ละคร และโขนจาก หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา เรียนขับร้องเพลงตับและเพลงเถาต่าง ๆ จากหลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย) ทางด้านดนตรีเรียนซออู้ ซอด้วง และจะเข้ จากครูหลายท่าน คือ พระประณีตวรศัพท์ (เขียน กมลวาทิน) ครูชุ่ม กมลวาทิน หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) พระสรรเสริญเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) จนสามารถเล่นเครื่องสายได้รอบวง และร้องเพลงได้เป็นอย่างดี 

การเป็นนักดนตรีหญิง (ฝ่ายใน) ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น นอกจากจะมีหน้าที่บรรเลง เพลงถวายเวลาทรงว่างจากราชภารกิจแล้ว บางครั้งต้องตามเสด็จไปยังต่างจังหวัดด้วย เช่น ที่มฤคทายวัน หาดเจ้าสำราญ และนครปฐม เป็นต้น นักดนตรีชุดนี้มีหลายคนด้วยกัน คือ สุมิตรา (สิงหลกะ) สุจริตกุล เล่นเปียโน ลมหวล สุจริตกุล (ซอและเปียโน) ทองสุก สุทธิพิณทุ (ซอ) ศรีสะอาด (จะเข้) เฉลย พุ่มทองสุก (ขลุ่ย) แฉล้ม พุ่มทองสุก (ซอด้วง) เฉลียว พุ่มทองสุก (ฉิ่ง) ฉลวย (รัตนจันทร์) จิยะจันทร์ (ซออู้) แนบ เนตรานนท์ (นักร้อง) ประเทือง ณ หนองหาร (นักร้อง) ประคอง พุ่มทองสุก (นักร้อง) จำรัส (ซออู้) ทองดี สุจริตกุล (โทน รำมะนา) อำไพ สุจริตกุล (ซอด้วง) 

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับที่วังพญาไท เวลาเสวยพระกระยาหารค่ำ พระสุจริตสุดา จะจัดให้ คุณสุมิตรา สุจริตกุล บรรเลงเปียโน ครูนิภา เป็นผู้ขับร้องถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ  ทรงชมเชยว่าร้องเพลงแสนเสนาะได้ไพเราะต้องพระราชหฤทัยนักและบางครั้งก็ทรงร่วมกับข้าราชบริพารขับร้องเพลง ตับวิวาห์พระสมุทรบ้าง เพลงจากเรื่องพญาราชวังสันบ้าง ฯลฯ 

เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสุจริตสุดา ยังคงอยู่ในวังสวนสุนันทา วงดนตรีของท่านก็รับงานบรรเลงตามสถานที่ต่าง ๆ ใช้ชื่อวงว่า “คณะนารีศรีสุมิตร” มีครูนิภาเป็นนักร้องประจำวง ได้ชื่อว่า เป็นนักร้องเสียงดี ชัดเจน กำลังดี และที่สำคัญคือ เป็นคนสวยประจำวง ได้อัดแผ่นเสียงกับบริษัท Deutsche Grammophone ซึ่งห้าง  ต.เง็กชวน ติดต่อมาเพลงที่บันทึกมี เพลงจากเรื่องวิวาห์พระสมุทรและพระราชวังสัน เป็นส่วนมาก และได้อัดแผ่นเสียง เพลงพญาโศก โดยมีสุมิตรา เดี่ยวเปียโน นับเป็นแผ่นเสียงเดี่ยวเปียโน เพลงพญาโศกเป็นแผ่นแรกของประเทศไทย ขายดีมากจนแม้แต่เจ้าของเองก็ไม่มีฟัง นอกจากเพลงพญาโศกแล้ว แผ่นเสียงเพลงที่ครูนิภาร้องไว้ และได้รับความนิยมมากได้แก่ เพลงสุดาสวรรค์เถา ตับวิวาห์พระสมุทร และเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เป็นต้น 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว หลวงวิจิตรวาทการได้ก่อตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้น ครูนิภาได้รับราชการเป็นครูอยู่โรงเรียนนี้ด้วย จึงมีโอกาสต่อเพลงจากหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เพิ่มขึ้นอีก นักเรียนที่ครูเคยสอน  ได้แก่ ครูประเวช กุมุท ครูประกอบ สุกัณหเกตุ เป็นต้น ระยะนี้ หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งบทละครปลุกใจหลายเรื่อง ครูนิภาได้ทำหน้าที่นักร้องต้นเสียงในเรื่องเลือดสุพรรณ มหาเทวี น่านเจ้า ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี ได้ร้องเพลง คลื่นถลางคู่กับ ครูแนบ เนตรานนท์ ทั้งยังได้ร่วมงานกับนักร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นคือ บุญทรง เหราบัติย์ ประภา เป้าประเสริฐ อัมพร ชัชกุล สวง เชยประทุม การุณ พันธุมสุต เป็นต้น ประวัติการขับร้องเพลงของครูนิภา จึงครบถ้วนทั้งไทยแท้และไทยสากล 

เมื่อมารับราชการในกรมศิลปากรได้ไม่นาน ก็สมรสกับครูแสวง อภัยวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ไม่มีบุตรธิดา ด้วยกัน มีบุตรบุญธรรม ๑ คน ชื่อ มยุรี ได้ก่อตั้งวงดนตรีบรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นประจำ คือ วง ส. สุรางคศิลป์ และได้ร่วมวงบรรเลงกับวงอื่น ๆ เสมอ 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้น ครูนิภาได้เข้าไปถวายการสอนดนตรีไทยแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ และยังช่วยสอนดนตรีไทยแก่สถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งรับสอนที่บ้านด้วย เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ครูได้ออกรายการโทรทัศน์ร่วมกับคุณสุมิตรา สุจริตกุล ในรายการหนึ่งในร้อย ซึ่งสนับสนุนโดย ธนาคารกรุงเทพจำกัด เพื่อเล่าเรื่องราวและบรรเลงเพลงที่เคยขับร้องถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่ามีผู้สนใจมาก 

ครูนิภา อภัยวงค์ ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี ๑๐ เดือน

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูนิภา อภัยวงศ์)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.