เจ้าจอมประคอง ในรัชกาลที่ ๕
(พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๔๙๔)
เจ้าจอมประคอง ในรัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรีของ พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล) และคุณหญิงอิ่ม เกิดที่แพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘
เจ้าจอมประคอง เริ่มต่อซอสามสายจากพระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี เมื่ออายุได้ประมาณ ๕ ปี โดยเริ่มหัดสีซอสามสายขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เจ้าจอมประคองสนใจดนตรีมากจึงสีซอสามสายได้ดี จนกระทั่งอายุได้ ๘ ปี จึงสีซอสามสายขนาดซอผู้ใหญ่และสามารถต่อเพลงเดี่ยว ได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๑๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี ได้เข้าไปอยู่ในวังหลวง เพื่อฝึกหัดระเบียบหน้าที่ชาววังตามความนิยมสมัยนั้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๒ อายุได้ ๑๔ ปี ก็ได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ และอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี รับราชการเป็นเจ้าจอมฝ่ายใน ได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำ ตรา จ.ป.ร. ตราตติยจุลจอมเกล้า และได้เบี้ยหวัดปีละ ๗ ชั่ง
ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๕ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกมาอยู่ที่บ้านสวนนอก ตำบลราชวัตร ซอยสงวนสุข ถนนพระราม ๕ และได้กลับเข้าไปอยู่ในวังหลวงอีกเมื่อเข้าสู่วัยชรามากแล้ว จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๙๒ เจ้าจอมประคองป่วยด้วยโรคชรา และถึงแก่กรรมเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ รวมอายุได้ ๘๖ ปี
ตลอดเวลาที่เจ้าจอมประคองรับราชการอยู่ในวังหลวง ได้สีซอถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนสิ้นรัชกาล ฝีมือสีซอของท่านไพเราะมาก โดยเฉพาะเพลงเดี่ยวที่ต่อจากท่านบิดา คือ เพลงแขกมอญสามชั้น สารถีสามชั้น พญาโศกสามชั้น สุรินทราหูสามชั้น ทะแย พญาครวญ และนกขมิ้น เจ้าจอมประคองสีซอได้ตามแบบฉบับของบิดาท่านอย่างแท้จริง ท่านสีซอประจำอยู่ในวงมโหรีฝ่ายในและเล่นเครื่องสายร่วมวงกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ศิษย์ที่ได้ต่อซอสามสายจากเจ้าจอมประคองมีไม่มากนัก ที่สำคัญได้แก่ เจ้าเทพกัญญา ณ เชียงใหม่ และพระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (ประสงค์ อมาตยกุล)
วชิราภรณ์ วรรณดี
(เรียบเรียงจาก บทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล, สยามรัฐรายวัน ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๙,หน้า ๙.)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.