หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๙๗)

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๙๗)

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

(พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๙๗)

 

หลวงประดิษฐไพเราะ เป็นบุตรคนสุดท้องของนายสิน และนางยิ้ม  ศิลปบรรเลง เกิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ที่ตำบลคลองดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม ครูสินผู้บิดานั้นเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ และเป็นศิษย์ของ พระประดิษฐ์ไพเราะ(ครูมีแขก หรือ มี ดุริยางกูร)

เริ่มหัดดนตรีตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ กับบิดา โดยเริ่มต้นเรียนฆ้องใหญ่ก่อนแล้วเริ่มหัดระนาดอย่างเอางานเอาการเมื่ออาย ๑๑ ปี  จนสามารถออกงานประชันฝีมือได้ตั้งแต่อายุเข้าสู่วัยหนุ่ม  โดยได้แสดงฝีมือเดี่ยวครั้งแรกที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี  ในงานโกนจุกธิดาของพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ ข้าหลวงใหญ่แห่งมณฑลราชบุรี  

ในปีพ.ศ. ๒๔๔๓ อายุ ๑๙ ปี ได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดชที่ถ้ำเขางู ราชบุรี  เป็นที่ต้องพระทัยมาก  จึงทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์  ในปีต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นจางวางมหาดเล็ก  จึงขนามนามท่านว่า “จางวางศร” มาตั้งแต่ครั้งนั้น และได้เป็นคนระนาดเอกประจำวงพิณพาทย์วังบูรพา  โดยทรงหาครูมาสอนหลายคน  ที่สำคัญคือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก  ประสานศัพย์)  

เมื่ออายุครบบวช  ก็ได้บรรพชาที่วัดบวรนิเวศวิหาร  โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เป็นพระอุปัชฌาย์  แล้วทรงจัดการให้แต่งงานกับนางสาว โชติ  หุราพันธ์  ธิดาของ พันโทพระประมวลประมาณพล  

นับตั้งแต่มาอยู่วังบูรพา  จางวางศรได้รับพระกรุณาจาก  สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ เป็นอย่างมากหาผู้ใดเสมอมิได้  ทรงจัดหาครูที่มีฝีมือดีเด่นทุกทางมาสอน  ทรงบังคับให้ฝึกซ้อมจนถึงทรงลงพระอาญา นับว่าทรงเคี่ยวเข็ญมาก  จนจางวางสอนได้ชื่อว่า  เป็นคนเก่งที่สุดแห่งยุคนั้น  ประชันระนาดกับผู้ใดก็ชนะ  นำความชื่นชมโสมนัสมามสู่องค์ผู้ทรงอุปถัมภ์เป็นอย่างยิ่ง  

จางวางศร  ไม่ใช่เป็นแต่เพียงนักดนตรีมีฝีมือมีความรู้รอบตัวสามารถเล่นดนตรีได้ทุกประเภทเท่านั้น  แต่ท่านยังมีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถค้นคิดประดิษฐ์เพลงตำราได้อย่างไพเราะในเวลาอันรวดเร็ว  เสมือนหนึ่งว่าทำนองเพลงนั้นหลั่งไหลออกมาจากสมองของท่านอย่างไม่ขาดสาย  เป็นคนจำเพลงแม่น  มีปฏิภาณดีเป็นเยี่ยม  และมีนิสัยชอบค้นคิดประดิษฐ์ เทคนิคการบรรเลงแบบใหม่ ๆ ขึ้น    

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น จางวางศร  เพิ่งเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ ได้ไม่นานนักแต่ท่านก็ได้แสดงฝีมือไว้ไม่น้อย  ได้เป็นนักดนตรีชุดพิเศษของหลวงที่เรียกว่า “วงปี่พาทย์ฤาษี” เช่น เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จวังบูรพาไปอินโดนีเซีย  ท่านก็ได้นำเพลงชวาหลายเพลงมาปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เพลงรุ่นนี้คือ เพลงบุญเต็นซอล์ค (สมัยนี้เรียกว่า บูเซ็นซอก แปลว่า ไกลกังวล) เพลงยะวาเก่า ฯลฯ จางวางศรเป็นผู้นำเครื่องดนตรีชวาซึ่งเขย่าด้วยไม้ไผ่เรียกว่า “อุงคะรุง” ซึ่งมีเพียง ๕ เสียงเข้ามาเมืองไทยในปีนั้น  โดยประดิษฐ์ให้เป็นเสียงไทย ๗ เสียง  แล้วมอบให้ศิษย์ชื่อ นายเอื้อน  ดิษฐ์เชย  เอาไปเหลาที่บ้านสวนมะลินำออกเขย่าเผยแพร่โดยเขย่า ๒ มือ มือละเสียง  เท่ากับว่าเป็นการพัฒนา  วงอังกะลุงของชวาให้มาเป็นแบบไทยจางวางศรจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวงอังกะลุงและครูเอื้อนจึงได้ชื่อว่าเป็นคนเหลาอังกะลุงคนแรก  บรรเลงครั้งแรกที่วัดราชาธิวาสในงานกฐินหลวง  

ใน พ.ศ. ๒๔๕๘  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้  ท่านได้ประดิษฐ์เพลงเขมรเขาเขียวขึ้นเป็นเพลงเถา  ใช้ชื่อว่าเพลงเขมรเลียบนคร ทำเป็นทางกรอขึ้นบรรเลงถวาย  นับเป็นการประดิษฐ์การบรรเลง “ทางกรอ”  ขึ้นใหม่เป็นวิวัฒนาการอีกแบบหนึ่งของแบบฉบับ  ซึ่งนิยมมาจนบัดนี้  

จางวางศร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงประดิษฐไพเราะในรัชกาลที่ ๖  เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘  ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เคยรับราชการอยู่ในกรมกองใดมาก่อนเลย  ทั้งนี้เพราะเป็นผู้มีฝีมือและความสามารถเลิศล้น เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยมาก  

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ หลวงประดิษฐต้องรับหน้าที่ควบคุมวงดนตรี ณ วังลดาวัลย์ ของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เพิ่มเติมขึ้นอีกวงหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า  วงบางคอแหลม  ได้ประดิษฐ์ทางเพลงสำหรับวงบางคอแหลมขึ้นเป็นพิเศษ เช่น แขกลพบุรีทางบางคอแหลม  เชิดจีนทางบางคอแหลม เป็นต้น  

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙  ได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวงกระทรวงวัง  ซึ่งเป็นสมัยรัชกาลที่ ๗ หลวงประดิษฐได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีไทยแก่  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี  รวมทั้งได้มีส่วนช่วยในงานพระราชนิพนธ์เพลงไทย  สามเพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา  เพลงเขมรละออองค์เถา  และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ๓ ชั้น  รวมทั้งได้ช่วยก่อตั้งวงมโหรีส่วนพระองค์ และวงมโหรีหญิงในราชสำนักด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา  เข็มศิลปวิทยา  เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒  และได้รับพระราชทานตราเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย  ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓  รับตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวงกระทรวงวัง  รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๕๐ บาท  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเสด็จเจริญพระราชไมตรีไปยังเมืองเขมร  ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๓  หลวงประดิษฐได้ตามเสด็จด้วย และได้ไปช่วยสอนดนตรีให้แก่ราชสำนักเขมรหลายเดือน  เมื่อกลับมาก็ได้นำเพลงสำเนียงเขมรมาประดิษฐ์ขึ้นเป็นเพลงไทยหลายเพลง อาทิ  ขะแมชม  ขะแมซอ  ขะแมกอฮอม  เป็นต้น  

เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงจัดให้มีการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล  หลวงประดิษฐได้ทำหน้าที่เป็นผู้บอกเพลงร่วมกับครูดนตรีหลายท่าน อาทิ พระยาเสนาะดุริยางค์ จางวางทั่ว พาทยโกศล อาจารย์มนตรี ตราโมท โดยมีขุนสมานเสียงประจักษ์ นายพิษณุ แช่มบาง นายโฉลก เนตตะสูต เป็นผู้ช่วยเขียนบันทึกลงเป็นโน้ตสากล ผลงานนี้ได้เก็บไว้ที่กองการสังคีต กรมศิลปากร และห้องสมุดดนตรีทูนกระหม่อมบริพัตร ฯ  

หลวงประดิษฐไพเราะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความอารี อุปถัมภ์ค้ำชูนักดนตรีด้วยกัน รักและห่วงใยในศิษย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีนักดนตรีจากเมืองมอญมาอยู่กับท่านชื่อ ครูสุ่ม ดนตรีเจริญ หลวงประดิษฐ ให้อุปถัมภ์ในตอนต้นและให้ความนับถือแลกฝีมือและแลกเพลงซึ่งกันและกัน จึงเกิดเป็นเพลงเถาใหม่ ๆ ขึ้นในยุคนั้นหลายเรื่อง  

กล่าวกันว่า หลวงประดิษฐไพเราะ แต่งเพลงไว้มากกว่า ๓๐๐ เพลงบางเพลงก็ร่วมแต่งกับนักดนตรีท่านอื่น อาทิ เจ้าคุณครูพระยาประสานดุริยศัพท์ มีทั้งที่แต่งขึ้นจากเพลงสองชั้นของเดิม ที่แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด และที่ดัดแปลงมาจากเพลงของต่างชาติ เป็นเจ้าของเพลงโหมโรงหลายเพลง อาทิ โหมโรงกระแตไต่ไม้ โหมโรงปฐมดุสิต โหมโรงศรทอง โหมโรงประชุมเทวราช โหมโรงบางขุนนนท์ โหมโรงนางเยื้ยง โหมโรงม้าสบัดกีบ และโหมโรงบูเต็นซอล์ค เป็นต้น  

ในด้านเพลงเถามีอยู่เป็นจำนวนนับร้อยเพลง อาทิ กระต่ายชมเดือนเถา ขอมทองเถา เขมรเถา เขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีเถา แขกขาวเถา แขกสาหร่ายเถา แขกโอดเถา ครวญหาเถา จีนลั่นถันเถา ชมแสงจันทร์เถา เต่าเห่เถา นกเขาขะแมร์เถา พราหมณ์ดีดน้ำเต้าเถา มุล่งเถา แมลงภู่ทองเถา ยวนเคล้าเถา ช้างกินใบไผ่เถา ระหกระเหินเถา ระส่ำระสายเถา ไส้พระจันทร์เถา ลาวเสี่ยงเทียนเถา แสนคำนึงเถา สาวเวียงเหนือเถา สาริกาเขมรเถา โอ้ลาวเถา ครุ่นคิดเถา กำสรวลสุรางค์เถา แขกไทรเถา สุรินทราหูเถา เขมรภูมิประสาทเถา แขไขดวงเถา ล่องเรือเถา พระอาทิตย์ชิงดวงเถา  กราวรำเถา ฯลฯ  

ในกระบวนเพลงเถาต่างๆ ได้ทำเพลงสี่ชั้น สามชั้น สองชั้น และชั้นเดียว ไว้หลายเพลง อาทิ สุรินทราหู เขมรไทรโยค แขกพราหมณ์ ดาวจระเข้ เป็นต้น  

ในกระบวนทางเปลี่ยน ได้ทำทางเปลี่ยนไว้มากมาย อาทิ ช้าปี่ ดำเนินทราย ตามกวาง ทองย่อน พราหมณ์ดีดน้ำเต้า สร้อยเพลง นกจาก ฯลฯ

ในกระบวนเพลงสามชั้น ได้แก่ ตับขะแมร์กอฮอม ฝรั่งจรกา เทพรำพึง ฝรั่งรำเท้า ดอกไม้ทอง ใบ้คลั่ง จีนนำเสด็จ ฯลฯ  

หลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นต้นคิดบันทึกเพลงไทยออกเป็นโน้ต ๙ เสียง เป็นต้นกำเนิดเพลงกรอ เป็นต้นกำเนิดวิธีตีระนาดแบบสะบัด ขยี้  รัว กวาด กรอ แบบพิสดารต่างๆ เหลือจะพรรณาได้ ศิษย์ของท่านมีมากมายกระจายไปทั่วทุกทิศมีทั้งชายและหญิง อาทิ นายเผือด นักระนาด จางวางผาด นายลาภ ณ บรรเลง โชติ ดุริยประณีต ชื้น ดุริยประณีต ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ร.อ. โองการ กลีบชื่น (ทองต่อ) แสวง คล้ายทิม ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ประสิทธิ์ ถาวร บุญยงค์ เกตุคง พิมพ์ นักระนาด เสนาะ หลวงสุนทร อุทัย แก้วละเอียด ศิริ นักดนตรี สงัด ยมคุปต์ ฉลาก โพธิ์สามต้น รวม พรหมบุรี กิ่ง พลอยเพ็ชร สวัสดิ์ บูรณพิมพ์ สมภพ ขำประเสริฐ พระพรหมปรีชา (กล่อนจันทร์เรือง) ชฎิล นักดนตรี สุเทพ มีสวัสดิ์ บุญมี พูนเจริญ ฯลฯ  

ศิษย์ที่เป็นผู้หญิงมีบุตรทั้งสองคือคุญหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง และนางมหาเทพกษัตริย์สมุห (บรรเลง สาคริก) จันทนา พิจิตรคุรุการ จิ้มลิ้ม กุลตัณฑ์ ลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา ลม่อม บูรณพิมพ์ ศิริกุล นักดนตรี สุคนธ์ พุ่มทอง ประชิต ขำประเสริฐ ฯลฯ  

ชีวิตครอบครัวนั้น แต่งงานครั้งที่ ๑ กับภรรยาชื่อ โชติ มีบุตร ๔ คน ชื่อ คุญหญิงชิ้น อาจารย์บรรเลง (สาคริก) นายประสิทธิ์ และ นายชัชวาล (รุ่งเรือง) กับภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ ฟู มีบุตร ๔ คน ชื่อ พัลลิกา ขวัญชัย น.อ.สมชาย และนายสนั่น ศิลปบรรเลง  

หลวงประดิษฐ์ไพเราะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ รวมอายุ ๗๓ ปี

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.