ประเวช กุมุท (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๔๒)

ประเวช กุมุท (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๔๒)

ประเวช กุมุท

(พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๔๒)

 

  ครูประเวช กุมุท เป็นลูกชาวนา เกิดที่ ตำบลคานหาม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ บิดาชื่อ นายวง มารดาชื่อ ชุ่ม มีปู่และย่าชื่อ กลับและสาย มีพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑ คน ชื่อโกวิท กุมุท ซึ่งเป็นนักดนตรีและควบคุมวงอังกะลุง  

เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมดำเนินศึกษา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จึงย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร คือ วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน จนจบชั้นมัธยมศึกษาบริบูรณ์ต่อจากนั้นจึงได้เข้าเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อจบชั้นเตรียมปริญญาแล้วก็เลิกเรียน เนื่องจากได้เข้ารับราชการในกรมศิลปากร  

พ.ศ. ๒๔๙๐ รับราชการในตำแหน่งศิลปินตรีที่แผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้วลาออกไปทำงานที่ธนคารไทยพาณิชย์ในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยทะเบียน จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงได้ย้ายไปทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย ณ วิทยาลัยนาฏศิลป จังหวัดเชียงใหม่

เนื่องจากมีนิสัยรักดนตรีมาตั้งแต่อายุยังน้อยบิดาจึงสอนให้หัดร้องเพลง ๒ ชั้น ง่ายๆ ตั้งแต่ อายุ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๒) เพลงที่ต่อจากบิดาได้แก่ จระเข้หางยาว เขมรพระปทุม และเพลงจีนขิมเล็ก แล้วยังได้เรียนขิม โทนรำมะนาและกลองแขกจากท่านบิดาด้วย  

เมื่อย้ายมาเรียนต่อในโรงเรียนนาฏดุริยางค์แล้วได้ต่อซอด้วงจากครูมี พูลเจริญ และครูโสภณ ซื่อต่อชาติ ซึ่งสอนซอด้วงและขลุ่ย เพลงที่เรียนส่วนมากเป็นเพลงบังคับตามหลักสูตรของโรงเรียน เช่น จระเข้หางยาว แป๊ะ บุหลัน สี่บท เป็นต้น  

เรียนเดี่ยวซอด้วงและซออู้กับครูปลั่ง วนเขจรได้เพลงนกขมิ้น ก็พอดีเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาเมื่อเข้ารับราชการในกรมศิลปากรแล้วจึงได้ต่อเพลงทางซออู้และซอสามสาย จากครูอนันต์ ดูรยชีวิน จนได้เพลงเดี่ยวพญาโศก เพลงเดี่ยวต่างๆ จนถึงเดี่ยวกราวใน และเรียนดีดจะเข้กับครูละเมียด จิตตเสวี (นางสนิทบรรเลงการ) จนถึงเดี่ยวลาวแพนได้ ต่อมามีโอกาสได้เป็นศิษย์ของหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ซึ่งนับเป็นครูคนสุดท้ายที่ถ่ายทอดวิชาการดนตรีไทยให้แก่ครูประเวชอย่างละเอียดละออ ทั้งเทคนิคการสีซอทุกชนิด การสีคลอร้องทางเพลงต่างๆ วิธีการสีกับวงดนตรีทุกประเภทจนถึงการสีเพลงเดี่ยวต่างๆ รวมทั้งได้ปรับปรุงทางเพลงที่ได้มาก่อนให้ไพเราะขึ้นจนสามารถสีซอได้ยอดเยี่ยม ทั้งซอด้วง ซออู้ และซอสามสาย เพลงเดี่ยวที่สีได้เพราะมาก ได้แก่ เพลงนกขมิ้น ลาวแพน พญาโศก กราวใน เชิดนอก ทะแย และทยอยเดี่ยว เป็นต้น และยังมีความสามารถในการตีระนาด ฆ้องวงใหญ่ รวมทั้งเครื่องหนังอีกด้วย ได้เรียนเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ จากอาจารย์มนตรี ตราโมท  

ความสามารถในการขับร้องนั้น ร้องเพลงได้ทุกประเภท แม้กระทั่งเพลงพื้นเมือง และตีกรับขับเสภาได้ไพเราะมากด้วย ระดับเสียงของครูประเวชนั้น เป็นเสียงนอกระดับเสภาจนถึงเสียงบนสุด (เสียงชวาไม่หลบ) เริ่มถ่ายทอดวิชาการดนตรีไทยให้แก่รุ่นน้องตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ในโรงเรียนนาฏดุริยางค์ มีอายุประมาณ ๒๐ ปีถนัดสอนเครื่องสายและมโหรี เคยสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งโดยวิธีจำและวิธีอ่านโน้ต เคยมีผลงานทางด้านการแต่งเพลงไว้หลายเพลงด้วยกัน อาทิเช่น แต่งบทร้องเพลงตะลุ่มโปงเถา แต่งทั้งบทร้องและทำนองเพลงแขกเล่นกลเถา ซึ่งได้รับรางวัลในการประกวดเครื่องสายไทยของธนาคารกสิกรไทยเป็นต้น นอกจากจะสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ครูยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทยและประวัติเพลงตามสถาบันต่างๆ และทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์อยู่เสมอ ซึ่งในการบรรยายแต่ละครั้งมักจะมีเอกสารประกอบการบรรยายด้วยเสมอ ผลงานที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไทยที่ครูภูมิใจ นอกจากรางวัลจากเพลงแขกเล่นกลเถาแล้ว ยังได้รับรางวัลในการแต่งบทละคร เรื่องเอกราชสุโขทัยด้วย ผลงานทางการบันทึกเสียง บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกกับวงดนตรีดุริยประณีตในเสภาเรื่องกากี คู่กับครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ บันทึกแผ่นเสียงกับบริษัทศรีกรุง ห้างนาย ต.เง็กชวน และอัดเสียงลงในแผ่นลองเพลย์ ในเพลงโสมส่องแสง เขมรลออองค์เถา กับวงดนตรีของกรมศิลปากรที่ห้างกมลสุโกศล  

สมรสกับนางกนกรัตน์ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๗ คน คือ วนิดา วราภรณ์ ขจรภพ นพดล วิมลชาติ ประศาสน์ศักดิ์ และจักรกฤษณ์ ธิดา ๒ คนโตมีความสามารถในการขับร้องและรำละคร บุตรชายคนที่ ๕ และคนที่ ๗ เป็นนักดนตรีสากล คนอื่นนอกนั้นไม่เป็นนักดนตรี ครูประเวช พักอยู่ที่บ้านเลขที่ ๑ ถนนสุริยวงค์ ๕ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 

ครูประเวช กุมุท ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ สิริอายุรวม ๗๖ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ ของครูประเวช กุมุท เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.