ปุย บาปุยะวาส (ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)

ปุย บาปุยะวาส (ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)

ปุย บาปุยะวาส

(ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)

 

นายปุย เป็นนักดนตรีมีความรู้และฝีมือดีคนหนึ่ง สมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่สามารถค้นวัน เดือน ปีเกิด ชื่อบิดา มารดา และสถานที่เกิดของท่านได้ ทราบกันแต่ว่าเป็นนักดนตรีรุ่นเดียวกับครูทับ พาทยโกศล (หลวงกัลยาณมิตตาวาส บิดาของท่านจางวางทั่ว  พาทยโกศล) ต่อมาได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่ตำบลบางกอกน้อย อันเป็นบ้านของเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช  บุณยรัตพันธุ์) เมื่อท่านเจ้าพระยา ฯ ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ แล้ว นายปุยก็ยังเช่าที่อยู่ต่อมากับภรรยาชื่อบุญ หรือบุญมา จนเกิดบุตร ๕ คน คือ นางอิ่ม นางเปี่ยม นายเพิ่ม แม่ชีปาน และบุตรชายคนสุดท้องชื่อ นายพุ่ม ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๓๓  

นายปุย เป็นคนมีความรู้ดี แต่ค่อนข้างขัดสนแม้จะมีวงปี่พาทย์ของตนเองก็เสงี่ยมเจียมตนยอมส่งบุตรชายสองคน คือ นายเพิ่ม และ นายพุ่ม ไปเป็นศิษย์ของท่านเจ้ากรมทับ พาทยโกศล ซึ่งมีสำนักดนตรีใหญ่อยู่ที่วัดกัลยาณมิตร จนบุตรของท่านทั้งสองมีความรู้ในดนตรีไทยอย่างแตกฉานเป็นที่ยกย่องมาก  

สมัยกลางรัชกาลที่ ๕ มีการเล่นดนตรีประชันกันที่ตำหนักแพ (บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ ปัจจุบัน) ทุกคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีผู้คนคึกคักมากนับตั้งแต่พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จนถึงสามัญชนมาฟังเพลงประชัน นายปุย ก็ได้เคยร่วมวงประชันด้วย และได้แต่งทางเดี่ยวระนาดเพลงอาหนูไว้ด้วยในครั้งนั้น นอกจากนี้ยังแต่งเพลงโหมโรงชมสวนวรรค์ไว้อีกด้วยเพลงหนึ่ง

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติกรมมหรสพ สำนักพระราชวัง)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.