เปล่ง แจ้งจรัส
(พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๘๙)
นายเปล่ง แจ้งจรัส เป็นบุตรนายปลั่ง นางพริ้ง เกิดที่บ้านคลองชักพระ ตำบลบางขุนศรี อำเภอตลิ่งชัน เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อเป็นเด็กเริ่มเรียนหนังสือที่วัดบางเสาธง ปรากฎว่าเป็นเด็กฉลาด เรียนดีมาก และชอบทางร้อยกรอง อ่านกวีนิพนธ์ โคลงฉันท์กาพย์กลอนได้แตกฉานตั้งแต่อายุยังน้อย
เริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกกับครูห่วง (ไม่ทราบนามสกุล) แลัวไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และได้ต่อเพลงหน้าพาทย์จากครูทองดี ชูสัตย์ ณ บ้านดนตรีพาทยโกศล จึงคุ้นเคยกับครูจางวางทั่ว พาทยโกศล เล่นดนตรีไทยทางของบ้านวัดกัลยาณ์มาโดยตลอด
อาศัยที่เป็นฉลาดและคล่องแคล่ว จึงเรียนดนตรีได้แตกฉาน มีความรู้ทางดนตรีทั้งปี่พาทย์และมโหรีตลอดจนแตรวง รวมทั้งทางขับร้อง ทั้งยังประพันธ์บทร้องด้วย เคยรับราชการเป็นตำรวจ เคยเป็นทหารรักษาวังในสังกัดของเจ้าพระยาสยามพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) จนได้ยศเป็นนายสิบเอก
พ.ศ. ๒๔๗๐ ย้ายมาอาศัยอยู่กับ นายพลอย และนางจันทร์ ซึ่งเป็นมหาดเล็กและข้าหลวงในวังวรดิศ อันเป็นวังของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เป็นที่โปรดปรานจนถึงบวชประทานให้ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นเวลา ๑ พรรษา สึกออกมาก็ได้เป็นครูสอนดนตรี มีความสามารถมาก เพราะสอนได้ดี ทั้งทางดนตรีและทางขับร้อง
เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ ทั้งทางเครื่อง ทางร้อง รวมทั้งประพันธ์บทร้องเพลงเองด้วย พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้ร่วมงานกับหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) บรรจุเพลงขับร้องในบทพระนิพนธ์ของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เพื่อร้องขับกล่อมถวาย พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎ เป็นที่โปรดปราน ได้รับแหนบทองคำอักษรพระนามยุคลทิฆัมพร เป็นรางวัล
พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ลาออกจากทหารรักษาวังแล้วทำหน้าที่เป็นครูสอนดนตรีไทยประจำอยู่ที่บ้าน พ.ต.อ. พระยาสุรสีห์สงคราม และออกไปสอนตามต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยุธยาและอ่างทอง มีศิษย์มากจนถึงตั้งวงดนตรีคณะ “เปล่งรัศมี” ขึ้นได้
ผลงานของนายปลั่ง แจ้งจรัส ปรากฎเป็นเพลงที่ท่านแต่งเฉพาะทางของท่านไว้ อาทิ สร้อยมยุราเถา (พ.ศ.๒๔๗๔) แขกกะเร็งเถา มอญโยนดาบเถา แขกเชิญเจ้าเถา แขกกล่อมเจ้าเถา นกกระจาบทองเถา เป็นต้น ได้ชื่อว่ามีความสามารถสูงในการแต่งพลงสำเนียงแขก สามารถต่อทางเดี่ยวคลาริเนท ไวโอลิน ขลุ่ย และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ให้แก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี
ในด้านทางเพลงสำหรับขับร้อง ได้แต่งทั้งบทร้องและทางร้องไว้หลายเพลง อาทิ เพลงวายุพักตร์ มะระกาแปรพักตร์ นกกระจาบทอง และแขกกะเร็ง บทร้องที่แต่งขึ้นมีสำนวนกลอนดีมากและมักมีความหมายหรือแสดงชื่อของเพลงให้ปรากฎอยู่ในบทร้องอย่างไม่ขัดเขิน เช่น บทร้องเพลง นารายณ์แปลงรูป ม้าย่อง ตามกวาง กัลยาเยี่ยมห้อง สาริกาเขมร เหราเล่นน้ำ สามไม้ใน และนกกระจาบทอง เป็นต้น
นายเปล่ง มีภรรยา ชื่อ เชื้อ มีบุตรชายหญิงรวม ๘ คน บุตรีคนโตเป็นนักร้อง ชื่อ ปรุง สุนทรกิจ ซึ่งถ่ายทอดทางร้องและบทร้องที่บิดาแต่งไว้ได้มากที่สุด กับบุตรชายคนโต ชื่อ สมปอง ได้รับทอดทางเครื่อง ทางเดี่ยวที่บิดาแต่งไว้มาก ศิษย์ที่เคยต่อเพลงทางร้อง มีนายเชื้อ นักร้อง ประชิตร ขำประเสริฐ ที่ต่อทางเครื่องมี นายเปรื่อง และนายเลื่อน จันทรมาน เป็นต้น
นายปลั่งถึงแก่กรรมอย่างกระทันหันที่วัดใหม่ช่องลม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุได้ ๕๐ ปี ขาดไม่กี่เดือน ฌาปนกิจศพ ณ วัดพระพิเรนทร์กรุงเทพ ฯ ในปีเดียวกัน
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ พ.จ.อ.ไมตรี พุ่มเสนาะ ครูประชิตร ขำประเสริฐ และคุณสมปอง แจ้งจรัส)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่นๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.