พร้อม พาทยกุล
(พ.ศ.๒๔๒๐-๒๔๘๐)
นายพร้อม พาทยกุล เป็นบุตรคนโตของ นายแดงและนางหรั่ง พาทยกุล เกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๒๐ มีน้องร่วมบิดามารดาเป็นหญิงสามคน ชื่อ พริ้ง พร้อย และปุ๋ย กับมีน้องชายคนสุดท้าย ชื่อ เล็ก (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
เนื่องจาก บิดาคือ นายแดงนั้นเป็นศิษย์ของครูมีแขก(เรียนพร้อมกับนายต้ม พาทยกุล ผู้พี่)จึงมีความรู้ในเพลงการดี และมีวงดนตรีที่ขึ้นชื่ออยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๕ นายพร้อมจึงได้หัดปี่พาทย์จนเล่นได้รอบวง และได้เป็นคนระนาดเอกของบิดามาตั้งแต่เข้าวัยหนุ่ม เวลาออกวงบรรเลง ครูแดงจะเป็นคนเป่าปี่ และลุงต้มจะเป็นคนตีฆ้องใหญ่ ครูพร้อมจึงรอบรู้เพลงการเป็นอย่างดี และเมื่อทางกรุงเทพ ฯนิยมเล่น แตรวง บรรเลงเพลงไทย บิดาก็ให้เข้ามาศึกษาเรื่องแตรวง จนซื้อแตรไปจัดตั้งเป็นวง สำหรับบรรเลงเวลาแห่นาคได้เป็นวงแรกของจังหวัดเพชรบุรี
เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ทูนกระหม่อมบริพัตร ฯ เสด็จไปควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี บิดาจึงได้พาเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอก ทูนกระหม่อมโปรดว่าเป็นคนมีความรู้เพลงการดีทั้งครอบครัว ได้ประทานนามสกุลว่า พาทยกุล ในโอกาสต่อมา แตรวงของครูพร้อมนับได้ชื่อว่าเข้มแข็งมาก เคยยกวงประชันกับ แตรวงของนายปน นิลวงศ์ และเลื่องลือมากว่าเป็นแตรวงที่คล่องแคล่วเป่าได้ไพเราะที่สุดในยุคนั้น และได้ถ่ายทอดวิชาเป่าแตรไว้ในจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ครั้งนั้น
ครูพร้อม มีฝีมือเป็นช่างทำกำไลทองคำ ฝีมือดีมากในการแกะเสมาทองคำ เป็นที่เลื่องลือ ทั้งยังสามารถประดิษฐ์เครื่องดนตรีต่างๆได้ด้วย เช่น กลองทัด ทำระนาด เหลาระนาดดีนัก ในด้านฝีมือดนตรี นอกจากจะเก่งรอบวงแล้วยังสีซออู้เพราะ และเป่าแตรได้ดี
ครูพร้อมมีภรรยา ๓ คน ชื่อ เฮียะ ซิ่วเตียว และตุ่น ลูกนางเฮียะเป็นนักดนตรีคนหนึ่ง ชื่อ ศิริ พาทยกุล ส่วนซิ่วเตียวไม่มีบุตร บุตรที่เกิดจากแม่ตุ่น เป็นนักดนตรีคนสำคัญคนต่อมา คือ ครูเตือน พาทยกุล
ครูพร้อมถึงแก่กรรมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๐ อายุราว ๖๐ ปี.
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของครูเตือน พาทยกุล)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.