พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๖๗)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๖๗)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

(พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๖๗)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์  ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และกรมสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ประสูติที่จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ ทรงสืบเชื้อสายมาจากสกุลชาวบางช้าง แขวงอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม และทรงมีพระนามเดิมว่า “ฉิม”  

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น ทรงมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ทรงรอบรู้วรรณคดีและการรบทัพจับศึกมาแล้วเป็นอย่างดี ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒ เป็นเวลา ๒๗ ปีนั้น ได้ทรงศึกษาเพิ่มเติมในด้านวรรณกรรมร้อยกรองรวมทั้งงานช่างฝีมือต่าง ๆ จนทรงมีความสามารถในกระบวนศิลปวิทยาหลายสาขาด้วยกัน ก่อนเสวยราชสมบัตินั้น ได้รับพระราชทาน พระราชอิสสริยยศ เป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช รวมทั้งได้เป็นแม่ทัพใหญ่ออกงานราชการสงครามหลายครั้ง เสด็จเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ พระชันษา ๔๒ พรรษา 

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีนั้น ได้ทรงพระราชนิพนธ์ บทขับร้อง บทละครไว้เป็นวรรณคดีที่มีชื่อเสียงหลายเล่ม เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน และบทละครนอกอีกมากมาย เฉพาะเรื่องอิเหนาเรื่องเดียวก็มีผู้นิยมนำมาใช้เป็นบทขับร้องเพลงเถามากที่สุด คือ ๔๐% ของบทเพลงเถาทั้งหมด ทรงมีความสามารถในการสีซอสามสายเป็นอย่างดี และมีซอสามสายคู่พระหัตถ์ชื่อว่า “ซอสายฟ้าฟาด” กับได้พระราชนิพนธ์เพลงที่มีชื่อเสียงมากคือ “บุหลันลอยเลื่อน” ซึ่งยังบรรเลงกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นผู้ตรากฎหมาย “ตราภูมิคุ้มกัน” ยกเว้นภาษีสวนมะพร้าว  หากสวนใดมีกะโหลกมะพร้าวทำซอสามสายได้ ก็ให้ยกเว้นภาษี นับเป็นการส่งเสริมพันธุ์มะพร้าวเพื่อการดนตรีไทย  ในด้านการละคร ทรงเป็นผู้พัฒนาละครไทยทั้งละครนอกและละครในเป็นอย่างดียิ่ง  มีบุคคลสำคัญในวงการละคร ในรัชสมัยของพระองค์ที่ได้ทรงพระกรุณาให้เป็นแม่บทแห่งการฟ้อนรำและขับร้อง อาทิ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์  เจ้าจอมมารดาอัมพา (ต้นราชสกุล ปราโมช) เจ้าจอมมารดาศิลา (ต้นราชสกุล ทินกร พนมวัน และกุญชร) ฯลฯ  

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระมเหสี  ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าบุญรอด  ต่อมาทรงสถาปนาเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  นอกจากนี้ยังมีพระราชโอรส  พระราชธิดา ประสูติด้วยพระมเหสี  เทวี และเจ้าจอมอีกหลายพระองค์  เป็นพระราชโอรส ๓๙ พระองค์ พระราชธิดา ๓๔ พระองค์ รวม ๗๓ พระองค์  เกิดเป็นสายราชสกุลสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ๒๐ สาย เฉพาะในสายที่สืบมาทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์ ได้แก่ ราชสกุล มาลากุล กุญชร พนมวัน ทินกร ปราโมช และสายของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่กัว  

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลาทั้งสิ้น ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗ มีพระชนมายุ ๕๖ พรรษา กับ ๕ เดือน.

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก หนังสือ “เจ้าชีวิต” พระนิพนธ์ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ พ.ศ. ๒๕๑๔  “ประวัตินักดนตรีไทย”  ของ เจริญชัย ชนไพโรจน์ และ “ราชสกุลจักรีวงศ์” ของ ดำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ พ.ศ. ๒๕๑๕)

 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.