พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๕๑๙)

พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๕๑๙)

พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)

(พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๕๑๙)

 

พระยาภูมีเสวิน มีนามเดิมว่า  จิตร  จิตตเสวี  เป็นบุตรคนที่ ๒ ของ หลวงคนธรรพวาที (จ่าง  จิตตเสวี)  มารดาของท่านมีนามว่า เทียบ  เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน คือ  

๑. ขุนเจนภูมิพนัส (เจียร  จิตตเสวี)  พี่ชาย  

๒. นางเที้ยม  บำรุงสวัสดิ์ (นางพิสิษฐ์สุขการ) น้องสาว

๓. ขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี)  น้องชาย

๔. นายเจตน์  จิตตเสวี น้องชาย

พระยาภูมีเสวินเริ่มเรียนซอด้วงจากบิดาตั้งแต่อายุได้ ๖ ปี จนมีความสามารถออกวงได้เมื่ออายุเพียง ๘ ปี  ได้หัดเรียนปี่ชวากับครูทอง  เรียนกลองจากครูมั่ง  นอกจากนี้ยังได้เป็นศิษย์ในวิชาการดนตรีของ หม่อมเจ้าประดับ ฯ  ครูอ่วม  ครูพุ่ม  ครูแป้น  ครูสอน (บางขุนศรี) และขุนเจริญดนตรีการ (นายดาบเจริญ โรหิตโยธิน) จนสามารถเล่นดนตรีได้รอบวง ที่ชำนาญเป็นพิเศษ คือ เครื่องสายทุกชนิด โดยเฉพาะซอสามสายและขลุ่ย   

เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๙) ขณะรับราชการเป็นมหาดเล็กในสังกัดกระทรวงวัง ได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ท่านก็มีโอกาสได้เป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ซึ่งเป็นศิษย์ที่ท่านเจ้าคุณครูรักใคร่เป็นพิเศษ เนื่องจากมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ทางดนตรีให้อย่างไม่ปิดบัง โดยเฉพาะระนาดและฆ้อง จนสามารถตีฆ้องวงเล็กชนะเลิศได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวตามเสด็จไปภาคใต้ (พ.ศ. ๒๔๕๒)  

พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านได้ดำรงตำแหน่ง หลวงสิทธิ์นายเวร  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทาน น.ส. เอื้อน ศิลปี บุตรีพระยาราไชสวริยาธิบดี (ฟ้อน ศิลปี) และคุณหญิงเทศ เป็นคู่สมรส  มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งสิ้น ๑๔ คน และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภูมีเสวิน เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ 

ฝีมือทางด้านการดนตรีของท่านนั้น ท่านได้เรียนซอสามสายเพิ่มเติมจาก เจ้าเทพกัญญา (ณ เชียงใหม่) บูรณพิมพ์ และเนื่องจากท่านมีพื้นความรู้และความสามารถในทางดนตรีหลายแขนงอยู่แล้ว จึงปรากฏว่า ท่านสีซอสามสายได้ไพเราะเป็นที่สุด แม้แต่ซอด้วง ซออู้ รวมถึงขลุ่ย   ท่านก็บรรเลงได้จับใจยิ่ง  ชื่อเสียงในทางการบรรเลงดนตรีของท่านนั้น เลื่องลือไปทั่วประเทศ เนื่องจากท่านบรรเลงออกอากาศ  ณ กรมประชาสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ นอกจากฝีมือในการบรรเลงดนตรีดังที่กล่าวมาแล้ว  พระยาภูมีเสวิน ยังมีความสามารถในทางนาฏศิลป์เป็นอย่างมากด้วย โดยเป็นศิษย์ของ พระยาพรหมา (ทองใบ)  พระยานัฎกานุรักษ์ (ทองดี) และคุณหญิงเทศ  ท่านแสดงโขนเป็นตัวอินทรชิตหลายครั้ง  

พระยาภูมีเสวิน เป็นนักค้นคว้าและขยันบันทึกไว้ด้วย  สิ่งที่ท่านบันทึกไว้นั้น ได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และตำราดนตรีไทยในปัจจุบัน อาทิเช่น  ประวัติพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ประวัติผู้เชี่ยวชาญการสีซอสามสายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา และหลักการสีซอสามสาย ซึ่งเป็นตำราดนตรีไทยที่ดีมากเล่มหนึ่ง  ท่านได้บรรยายไว้โดยละเอียดถึงการใช้คันชัก  การใช้นิ้ว เช่น คันสีน้ำไหล  คันสีงูเลื้อย  คันสีสะอึก  นิ้วชุน นิ้วนาคสะดุ้ง และนิ้วประพรม เป็นต้น  และยังได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีเห่กล่อมพระบรรทมไว้ด้วย  

ผลงานเพลงของท่านที่ได้แต่งไว้ ได้แก่ โหมโรงภูมิทอง ๓ ชั้น ซึ่งดัดแปลงมาจากเพลงนกกระจอกทอง ๒ ชั้น และได้แต่งเพลงเถาไว้ ๒ เพลง คือ เพลงสอดสีเถา และเพลงจำปาทองเถา  ทางเดี่ยวซอสามสายที่ท่านประดิษฐ์ไว้ ได้แก่  ต้นเพลงฉิ่ง  ขับไม้บัณเฑาะว์  ทะแย  นกขมิ้น  ปลาทอง  บรรทมไพร  พญาครวญ  พญาโศก  แสนเสนาะ  ทยอยเดี่ยว  เชิดนอก และกราวใน เถา  

ท่านบรรเลงดนตรีครั้งสุดท้ายเมื่ออายุประมาณ ๘๐ ปี  ณ  โรงละครแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยบรรเลงร่วมกับหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน)  เพื่อนคู่หูของท่าน และกรมศิลปากรได้บันทึกเสียงการสีซอสามสายของท่านไว้หลายเพลง  

ลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อสียงทางด้านฝีมือการดนตรี คือ ศาสตราจารย์ ดร. อุทิศ  นาคสวัสดิ์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดม  อรุณรัตน์ และศิริพรรณ  ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา  

พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ด้วยโรคลมปัจจุบัน รวมอายุได้ ๘๒ ปี

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล 

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) และบทความ “สยามสังคีต” ของนายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ประจำวันเสาร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔.)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.