จ่าเอกกมล (เจียน) มาลัยมาลย์
(พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๑๗)
จ่าเอกกมล มาลัยมาลย์ มีนามเดิมว่า เจียน เกิดวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นบุตรของ นายชั้นและนางเชียม มาลัยมาลย์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๒ คน มีพี่ชายเป็นนักดนตรีมีฝีมือ ๑ คน ชื่อ สาลี่ มาลัยมาลย์
บิดาเป็นนักดนตรี ทำหน้าที่ตีฆ้องอยู่ในวงบางขุนพรหม มารดาเป็นนักร้องเพลงฉ่อย ครูเจียนจึงมีพรสวรรค์ทางดนตรีไทยโดยสายเลือด เล่ากันว่าเมื่อยังเด็ก ครูสามารถจำเพลงได้เองโดยไม่ต้องต่อเพราะความที่บิดามีลูกศิษย์มาก เวลานั่งอยู่ใต้ถุนบ้านก็ได้ยินได้ฟังจนขึ้นใจ อายุได้ประมาณ ๑๐ ปีก็เล่นเข้าวงปี่พาทย์รุ่นเด็กของวังบางขุนพรหมได้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเห็นว่ามีฝีมือใช้ได้ จึงโปรดให้นำตัวมาฝากไว้เป็นศิษย์ของครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ครูเตือน พาทยโกศล ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านครูจางวางทั่วเช่นกัน และครูเจียนเป็นผู้โชคดีที่มีโอกาสได้ต่อเพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งต่อประทานด้วยพระองค์เองพร้อมกับครูนพ ศรีเพชรดี ด้วย
พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เข้ารับราชการที่กองดุริยางค์ทหารเรือ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๗ ลาออกจากทหารเรือมียศเป็นจ่าเอก ต่อมาเข้าทำงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลข การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมที่ดิน และท้ายที่สุด ที่องค์การเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหมจนเกษียณอายุ จากนั้นชุมนุมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญมาสอนประจำจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ความสามารถในทางดนตรีของครูเจียนนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าท่านเป็นคนหัวไวมาก จึงได้รับหน้าที่ต่อเพลงจากท่านครูจางวางทั่ว แล้วไปถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ อีกทีหนึ่ง เครื่องดนตรีที่ครูบรรเลงได้ถนัดมาก ได้แก่ ระนาดเอก ปี่ และขลุ่ย ครูเคยเรียนโน้ตสากลกับพระเจนดุริยางค์ เรียนอยู่ ๒๙ วัน ก็สำเร็จ พระเจนฯ เรียกครูว่า “ไอ้ปอกหัวใส” (เพราะครูมีแผลเป็นที่ขมับขวาและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็วมาก) ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว การบรรเลงดนตรีไทยซบเซาลงเนื่องจากผลทางการเมือง ครูยังได้ใช้วิชาเขียนโน้ตสากล เขียนโน้ตสำหรับขลุ่ยและซอออกขายที่ร้านสังคีตยากรของครูพุฒ นันทพล และในระยะนี้ก็ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเป็นศิษย์ที่ได้รับคำชมเชยจากหลวงประดิษฐฯ ว่า เป็นคนเดียวที่กล้าทำของใหม่ ๆ และมีหัวคิดสำคัญ ครั้งหนึ่งในงานไหว้ครูที่บ้านหลวงประดิษฐไพเราะ ครูเจียนได้แต่งเพลงพวงร้อย เถา และทำทางเดี่ยวระนาด เพลงพญาโศก หกชั้น แล้วมอบให้ลูกศิษย์คนสำคัญ ชื่อ บุญธรรม คงทรัพย์ เป็นผู้บรรเลง เป็นที่เลื่องลือกันมากในครั้งนั้น นอกจากเพลง ๒ เพลงที่กล่าวแล้ว ครูยังทำทางเปลี่ยนของ เพลงเขมรใหญ่ สองชั้นและชั้นเดียว เพลงพญาสี่เสา เถา โหมโรงมหาชัย สามชั้น ทางเสภา และแสนสุดสวาท เถา ซึ่งผลงานเหล่านี้มีอยู่ที่กองดุริยางค์กรมตำรวจ เพลงสุดท้ายในชีวิตของครูเจียนได้ประดิษฐ์ไว้ คือ เพลงโหมโรงมาลัยมาลย์ ซึ่งครูได้แต่งให้เป็นเพลงประจำของชุมนุมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมให้ชื่อว่า โหมโรงสร้อยสนธรรมศาสตร์ ต่อมาครูประเวช กุมุท ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า โหมโรงมาลัยมาลย์
ครูเจียนสมรสกับนางสาวอนงค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน ชื่อนายภิรมย์ น.ส.จงกลนี นายปรีชา นายมนตรี นายอำนวย และ น.ส.อุไรวรรณ บุตรธิดาของครูไม่มีใครยึดอาชีพเป็นนักดนตรี แต่ก็มีความสามารถในการบรรเลงและขับร้องเพลงได้พอสมควร
ครูเจียนเริ่มป่วยด้วยโรคของหลอดลมและกล่องเสียง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่นานหลายเดือน จนถึงวันพุธที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ ครูก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งของกล่องเสียง รวมอายุได้ ๖๒ ปี
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ จ่าเอกกมล มาลัยมาลย์ วันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ไม่ทราบสถานที่พิมพ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.