ระตี (วิเศษสุรการ) จุลพล
(พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๕๓๑)
นางระตี (วิเศษสุรการ) จุลพล เกิดที่บ้านถนนเดโช อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นบุตรีของพันโทพระวิเศษสุรการ (ต่วน ไชยสุต) และนางแจ่ม วิเศษสุรการ เป็นหลานปู่ของ พระภักดีจุมพล (สกุลเดิม ไชยสุต) และเป็นหลานตาของ นายหลี เสถียรโกเศศ พระวิเศษสุรการนั้นเป็นทหาร เป็นผู้ที่รักและเล่นดนตรีไทยได้ ส่วนมารดาเป็นครูที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก ๕ คน เป็นชายสามชื่อ จำเนียร กลศ และ สุรเดช เป็นหญิงอีกสองคนชื่อ ลักษณีย์ และสัญฉวี ที่เล่นดนตรีไทยมีนายกลศ (ซอด้วง) และนายสุรเดช (ขลุ่ย)
เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนสายปัญญา โรงเรียนสวนสุนันทา แล้วย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเซ็นฟรังซิสซาเวียร์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ จากนั้นไปเรียนต่อที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ เป็นนักเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นที่ ๖ เรียนจบได้ประกาศนียบัตรจากเตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เริ่มเรียนดนตรีไทยตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ โดยเรียนที่บ้าน แล้วเริ่มต่อจะเข้กับครูเป็นงานเป็นการเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี โดยต่อเพลงจระเข้หางยาวเป็นเพลงแรกกับครูชุ่ม กมลวาทิน จากนั้นก็ต่อเพลงแป๊ะ พม่าห้าท่อน และลาวแพน ต่อมาได้หัดจะเข้เพิ่มเติมจากครูจ่าง แสงดาวเด่น (ศิษย์ของหลวงว่องจะเข้รับ) นอกจากจะเรียนเพลงธรรมดาแล้วได้ต่อเดี่ยวจะเข้ เพลงมู่ล่ง แขกมอญ ๓ ชั้น และกราวใน ต่อมาเมื่อครูจ่างถึงแก่กรรมแล้วจึงได้ต่อเพลงเพิ่มเติมจาก ครูแสวง อภัยวงศ์ ได้ทางเดี่ยวสารถี แขกอาหวัง และจีนขิมใหญ่ ได้แสดงฝีมือเดี่ยวจะเข้ออกอากาศทางวิทยุศาลาแดงเป็นครั้งแรกด้วยเพลงลาวแพน เมื่ออายุ ๑๕ ปี
ต่อมาได้สมัครเข้าทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์ สมัย พล.ท. ม.ล.ขาบ กุญชร เป็นอธิบดี ได้ร่วมงานกับครูพุ่ม บาปุยะวาส และนักดนตรีคนสำคัญอีกหลายคน อาทิ ครูฉลวย จิยะจันทน์ ครูสมาน ทองสุโชติ ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ครูประสงค์ พิณพาทย์ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ฯลฯ ครูสมาน ทองสุโชติ ได้ประดิษฐ์ทางเดี่ยวจะเข้ให้เป็นพิเศษอีก ๔ เพลง คือ สุดสงวน สุรินทราหู นกขมิ้น และอาถรรพ์ อันเป็นทางเฉพาะสำหรับผู้ที่เดี่ยวจะเข้ “ไหว” เป็นพิเศษจริง ๆ
ครูระตีได้ชื่อว่า เป็นนักจะเข้ฝีมือยอดเยี่ยมในระดับแนวหน้าคนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยากจะหาผู้ใดเหมือน ท่านดีดแรง ทั้งไหว ทั้งเรียบ และชัดเจนแจ่มแจ้งทุกตัวโน้ต เคยบันทึกเสียงเพลงเดี่ยวต่าง ๆ ไว้มาก นับเป็นนักดนตรีที่มีผู้นิยมชมชื่นในฝีมือมากที่สุดคนหนึ่ง เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการเดี่ยวจะเข้ เมื่อมีการประกวดทางสถานีวิทยุสื่อสาร
ในด้านการสอน ได้สอนจะเข้ให้นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนพันธะวัฒนา คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ศิษย์ที่มีฝีมือดี ได้แก่ สุรพล พงษ์สุวรรณ สัก รินทร์ สู้บุญ ภัทร เครือสุวรรณ และกมล ชิดช่าง
ชีวิตครอบครัว แต่งงานกับ นายพนิต จุลพล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ มีบุตรสองคน คือ พ.ต.ต. พนิน จุลพล และคุณพนิตา สวัสดิโรจน์ ทั้งสองคน มิได้เล่นดนตรีไทย
ครูระตีได้รับตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ จนเกษียณในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และถึงแก่กรรมในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑ รวมอายุได้ ๖๕ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูระตี (วิเศษสุรการ) จุลพล)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.