ละเมียด ทับสุข (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๕๕)

ละเมียด ทับสุข (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๕๕)

นางละเมียด ทับสุข

(พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๕๕)

 

ครูละเมียด  ทับสุข เป็นธิดาของนายอุ่น และนางสุด ทับสุข  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่บ้านเลขที่ ๒๓๙ ริมคลองด่าน บางขุนเทียน มีพี่น้องทั้งสิ้น ๒ คน คือ จ.ส.อ. ละเอี่ยม และนายสะอาด เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษา อายุได้ประมาณ ๑๑-๑๒ ปี ครูเนื่อง ชงเชื้อ ซึ่งเป็นคนฆ้องของวงวังบางคอแหลม ได้ชักชวนให้หัดร้องเพลงโดยครูเนื่องเป็นผู้สอน ในเพลงไอยเรศ ๓ ชั้น เป็นเพลงแรก ต่อมาได้ต่อเพลงทางร้องเพิ่มเติมจาก ครูต่วน ปิ่นจันทร์  ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ หม่อมเจริญ พาทยโกศล ต่อเพลงตับเพลงละครและเพลงเกร็ดต่าง ๆ มากมาย อาทิ ตับพรหมาศ นาคบาศ นางลอย ทยอยนอก เขมรปากท่อ ในระยะนี้ได้ร้องเพลงกับวงดนตรีต่าง ๆ ออกอากาศทางสถานีวิทยุหลายครั้ง เช่น ร่วมวงเครื่องสายผสมของนายกุ๊นและวงบางประทุน ได้มีโอกาสรู้จักกับครูเจือ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ครูพุฒ นันทพล ครูสำราญ ภมรสูตร ซึ่งร่วมวงดนตรีขับร้องกันมา  

เมื่อครูละเมียด อายุได้ ๑๘ ปี ได้สมรสกับนายดวง  เนื่องสุนันท์ อยู่ด้วยกันประมาณ ๖ ปี นายดวงก็ถึงแก่กรรม ครูละเมียดแต่งงานใหม่กับ นายประกิจ บัวธรรม ได้ติดตามสามีไปอยู่ต่างจังหวัดประมาณ ๕ ปี  ในช่วงนี้หยุดร้องเพลงเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน ซึ่งมี ๖ คนด้วยกันคือ มาลีวัลย์ ทรงวุฒิ ปราณี ยนตร์ สมคิด และพลากร จนเมื่อย้ายกลับมากรุงเทพ ผู้จัดรายการของสถานีวิทยุ ว.ป.ถ. ๑ ชื่อ ประพาฬ ได้จัดให้มีการประกวดวงดนตรีไทย ได้เชิญครูสำราญ ภมรสูตร นำวงดนตรีไทยของสโมสรข้าราชการมหาดไทย เข้าร่วมประกวดด้วย และขอให้ครูละเมียดมาเป็นคนขับร้อง จึงได้เริ่มต่อเพลงอีกครั้งจากครูสำราญในเพลงราตรีประดับดาวและเขมรละออองค์เพื่อเข้าร้องประกวดในครั้งนั้น และจากการได้ร่วมวงและต่อร้องกับครูสำราญ จึงได้เป็นคนร้องประจำวงสโมสรข้าราชการมหาดไทย นอกจากนี้เคยร่วมวงร้องอยู่กับคณะลิเกหลายคณะ เช่น คณะบุญส่ง  จารุวิจิตร คณะทองใบ เรืองนนท์ ร่วมเล่นละครวิทยุกับ ชอุ่ม ประภาศิริ ทั้งละครนอก ละครใน หุ่นกระบอก เพลงทรงเครื่องจนถึงเพลงฉ่อย จึงมีโอกาสได้ร่วมออกอากาศกับ ครูละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา และได้จำเพลงหุ่นกระบอกมาจากครูละม่อมด้วย  

ชีวิตในแวดวงดนตรีไทยของครูละเมียด  ทับสุข มิได้ยึดเหนี่ยวอยู่กับวงใดหรือคณะใดเป็นการถาวร เนื่องจากต้องรับภาระในการเป็นแม่บ้านและแม่ของลูกด้วย  คลุกคลีอยู่กับการร้องเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุเป็นส่วนใหญ่ แต่ครูก็จำทางเพลงของวงฝั่งขะโน้น คือ เพลงของบ้านพาทยโกศลไว้ได้มาก เนื่องจากได้ต่อร้องจากครูต่วนไว้มาก  ต่อมานายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว ซึ่งเป็นศิษย์ในการขับร้องคนหนึ่งของครูได้ขอให้ครูมาสอนขับร้องประจำที่ชมรมดนตรีไทยและนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้เชิญครูสำราญ ภมรสูตร มาสอนทางเครื่องให้ด้วย จนกระทั่ง ครูสำราญ ถึงแก่กรรมไป  ครูละเมียดก็ยังคงสอนอยู่

ครูละเมียด ทับสุข ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ สิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี

 

จรวยพร สุเนตรวรกุล

(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ ครูละเมียด ทับสุข)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.