ศรีนาฏ เสริมศิริ
(พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๓๑)
นางศรีนาฏ เป็นบุตรีนายนาค นางจีบ เสริมศิริ เกิดที่บ้าน ณ ตำบลเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เดิมชื่อ นาฏ เมื่ออายุ ๗ ปี หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้รับมาเป็นบุตรบุญธรรม เริ่มเรียนขับร้องและดนตรีตั้งแต่นั้น และหลวงประดิษฐไพเราะ ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่าบรรจง
เริ่มเรียนหนังสือไปพร้อมกับการดนตรีและขับร้อง โดยเรียนที่โรงเรียนราชินี จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ มีความสามารถในการตีโทนรำมะนาและขับร้อง รวมทั้งบรรเลงเครื่องสายได้ หลวงประดิษฐไพเราะได้นำขึ้นถวายตัวเป็นพนักงานมโหรีในรัชกาลที่ ๗ ทำหน้าที่ขับร้องและตีโทนรำมะนาประจำวงมโหรีหลวง ซึ่งเป็นวงสตรีในราชสำนักล้วน ๆ
พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่นานได้สมรสกับนายบุญจันทร์ โตวิสุทธิ์ ข้าราชการกรมรถไฟ เป็นนักดนตรีมีชื่อสียงในด้านเครื่องสาย มีบุตรสองคนเป็นหญิงชื่อ สุรภี และชายชื่อ จิระวุธ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายจากกรมมหรสพหลวงมาสังกัดกรมศิลปากร โดยเป็นครูสอนขับร้อง อยู่ในโรงเรียนนาฏดุริยางค์
เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประกาศให้หญิงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้สมกับเป็นเพศหญิงนั้น จมื่นมานิตย์นเรศวร์ได้เปลี่ยนชื่อให้ท่านใหม่ว่า “ศรีนาฏ” จึงใช้ชื่อใหม่นี้ตลอดมา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เรียนโน้ตสากลและสีซอฝรั่งกับพระเจนดุริยางค์ทั้งยังได้เรียนทางขับร้องเพิ่มเติมจากหลวงเสียงเสนาะกรรณ และหม่อมต่วน ภัทรนาวิก และเรียนเครื่องหนังเพิ่มเติมจากพระพาทย์บรรเลงรมย์ จนมีความสามารถสูง
ครูศรีนาฏ เคยร่วมขับร้องเพลงไทยสากล คือ เพลงวันชาติ (๒๔ มิถุนายน) กับอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ซึ่งอาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นผู้ประพันธ์ในการประกวดเพลงวันชาติได้รับรางวัลที่ ๑ ได้เคยเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมร่วมกับกรมศิลปากร ณ ประเทศพม่า และลาว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘
ครูศรีนาฏ ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีและขับร้องให้ศิษย์ในวิทยาลัยนาฎศิลปจนเกษียณอายุใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ต่อมาได้เป็นอาจารย์พิเศษในวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร แผนกดนตรีไทย สโมสรธนาคารกรุงเทพ จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงแก่กรรม ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๑ รวมอายุได้ ๗๖ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล (เรียบเรียงจาก วิทยานิพนธ์ศิลป เรื่อง วิธีสอนขับร้องเพลงไทย โดย นางประคอง ชลานุภาพ)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.