สกล แก้วเพ็ญกาศ
(พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๕๔๐)
นายสกล แก้วเพ็ญกาศ มีนามเดิมว่า จงกล เปลี่ยนชื่อเป็น สกล ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสมัยที่มีการพัฒนาเรื่องชื่อกันมาก ชื่อจงกล แปลว่า ดอกบัว ซึ่งเป็นชื่อดอกไม้ไม่เหมาะจะเป็นชื่อผู้ชาย ทางราชการจึงขอให้เปลี่ยน บิดามีนามว่า นายเหรียญ มารดามีนามว่า นิล อาชีพหลักของบิดามารดาคือ การบรรเลงดนตรี ปู่ของท่านมีนามว่า เอี่ยม ย่ามีนามว่า แสง ตามีนามว่า น้อย และยายมีนามว่า พัน นายสกลจึงได้ถือกำเนิดมาในตระกูลของนักดนตรีที่บรรพบุรุษได้สืบทอดมา
ครูสกล เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๒ อันเป็นปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ สถานที่เกิดคือ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มีพี่สาวหนึ่งคน ชื่อ ถนอม สุนทรนัฏ มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีทั้งเครื่องสายและปี่พาทย์ มีพี่ชายหนึ่งคนชื่อ บุญช่วย มีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์ได้รอบวง ตัวนายสกลเองมีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์และแตรวงได้ทุกเครื่อง สมรสกับนางไล้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน แต่มีบุตรบุญธรรมเป็นหญิง ๑ คน ชื่อ สำรวย เอมอิ่ม มีความสามารถในการขับร้อง
เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดพิกุลเงิน จนอ่านออกเขียนได้ และอุปสมบทที่วัดพิกุลเงิน เช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ มีหลวงพ่อแฉ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ นายสกล มีอาชีพเป็นนักดนตรีมาตลอดโดยมิได้ประกอบอาชีพในด้านอื่นเลย เพราะเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เริ่มเรียนดนตรีเมื่ออายุ ๙ ปี จากครูเหรียญ ผู้เป็นบิดา ในเพลงสาธุการ ต่อมาได้เป็นศิษย์ของครูพร้อม สุนทรนัฏ เรียนฆ้องใหญ่ แตรวง และปี่คาริเน็ตแล้ว ยังได้ต่อระนาดเอกเพลงหน้าพาทย์บางเพลง เพลงเดี่ยวอีกหลายเพลง เช่น พญาโศก สารถี แขกมอญ เชิดนอก เป็นต้น ครูคนต่อมา มีนามว่า กล้าย ณ บางช้าง สอนระนาดเอก ต่อเพลงทางเดี่ยวให้ ได้แก่ กราวในเถา พญาครวญ พญาโศก (คนละทางกับที่ได้จากครูพร้อม) ครูคนสุดท้าย คือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งได้สอนทางฆ้องใหญ่และระนาดเอกให้ รวมทั้งเป็นผู้สอนเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ให้ และต่อเพลงเดี่ยวแขกมอญให้ นายสกลมีความสามารถทั้งในการบรรเลงและขับร้อง เครื่องดนตรีที่ถนัดมากที่สุดได้แก่ ระนาดเอก ซึ่งสามารถบรรเลงทางเดี่ยวเพลงกราวใน เชิดนอก สารถี แขกมอญ พญาโศก พญาครวญ และทยอยเดี่ยวได้ดีเป็นพิเศษ ทำหน้าที่เป็นผู้บรรเลงระนาดเอกประกอบการแสดงโขนละครอยู่เป็นประจำ สามารถเทียบเสียงเครื่องดนตรี ขึ้นเครื่องหนัง เหลาผืนระนาด ทั้งเอกและทุ้ม และทำอังกะลุงได้ ได้รับมอบให้เป็นผู้ทำพิธีไหว้ครูจากหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และได้ต่อหน้าทับพิเศษจากหลวงประดิษฐไพเราะไว้หลายชุด เช่น สมิงทอง ม้าย่อง เพลงหน้าพาทย์ที่ร้องได้ ได้แก่ ตระนิมิตร ตระนอน กลองโยน กราวรำ กราวใน และเชิดนอก เพลงที่ชอบร้องมาก คือ เพลงแป๊ะและเพลงจระเข้หางยาว ระดับเสียงนั้น ร้องได้ตั้งแต่เสียงเพียงออ จนถึงเสียงบนสุดที่เรียกว่า ชวาไม่หลบ เริ่มถ่ายทอดวิชาดนตรีให้แก่ผู้อื่นตั้งแต่อายุ ๒๓ ปี โดยสอนที่บ้านบางใหญ่เท่านั้น ศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สุรเดช กิ่มเปี่ยม ลมูล เผือกทองคำ มนัส ตาดสุวรรณ กัญญา โรหิตาจล ประยูร ฟักภู่ เป็นต้น ท่านมีความสามารถสอนได้ทุกเครื่อง ตั้งแต่ปี่ ระนาด ฆ้อง เครื่องสายไปจนถึงเครื่องประกอบจังหวะรวมทั้งวงอังกะลุงได้ด้วย วิธีการสอนของท่านใช้วิธีให้ท่องจำ แต่ถ้าต้องการให้สอนด้วยวิธีใช้โน้ตท่านก็สามารถบอกให้ได้
เพลงที่ท่านแต่งมีทั้งทางร้อง ทางเครื่อง และทางเดี่ยว ส่วนมากเป็นการตัดและขยายจากของเดิม ได้แก่ เพลงนางเยื้ยงเถา ตุ๊กตาเถา แขกตะแร็กแต็กเถา แขกยามดึกเถา ส่วนทางร้องได้แต่งเพลงกัลยาเยี่ยมห้องและแขกกะเล็งเถา ซึ่งมีครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นผู้แต่งทางเครื่อง การเผยแพร่ผลงานดนตรีไทยนั้น ได้ออกแสดงครั้งแรกเมื่ออายุ ๙ ปี ที่จังหวัดนนทบุรี ได้รับรางวัลด้วย แสดงเดี่ยวระนาดเอกครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๖ ปี ที่บ้านพระยาอภัย ตำบลราชวงศ์ กรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัลเป็นเงิน ๕ บาท
นายสกล แก้วเพ็ญกาศ เป็นผู้มีหลักวิชาเป็นครูที่มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๐ ท่านได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคชรา ณ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี สิริรวมอายุได้ ๘๘ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก แบบบันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ซึ่งให้รายละเอียดโดยนายสกล แก้วเพ็ญกาศ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.