นางสนิทบรรเลงการ (ละเมียด จิตตเสวี)
(พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๑๖)
ครูละเมียด จิตตเสวี เป็นบุตรีของนายเปรม และนางจีบ สวนรัตน์ เกิดที่ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๗ เนื่องจากบิดาเป็นครูเครื่องสาย ทำจะเข้และซอขายที่บ้าน จึงได้เริ่มเรียนเครื่องสายกับบิดาและหัดจะเข้เป็นพิเศษ เล่นดนตรีได้ตั้งแต่อายุ ๘ ปี
เมื่ออายุได้ ๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๖) ได้เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่งใกล้บ้าน จนอ่านออกเขียนได้ บิดาจึงให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยสอนดนตรี และส่งตัวไปเรียนจะเข้กับหลวงว่องจะเข้รับ (โต กมลวาทิน) ระหว่างนั้นก็เล่นเครื่องสายเป็นอาชีพตลอดมาจนมีชื่อเสียงว่าเป็นนักดีดจะเข้ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เข้ารับราชการเป็นศิลปินจัตวาในแผนกดนตรีไทย กองดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นกองการสังคีต กรมศิลปากร เริ่มตั้งแต่ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นเวลาถึง ๒๕ ปี จึงได้เลื่อนเป็นศิลปินตรี รับเงินเดือน เดือนละ ๙๐๐ บาท ขณะนั้นท่านอายุ ๖๐ ปี พอดี จึงออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา
เกี่ยวกับความสามารถ เป็นที่ยอมรับกันในวงการดนตรีไทยว่า ฝีมือจะเข้ดีเป็นเลิศ เมื่อเข้าวงเครื่องสายปี่ชวาร่วมกับอาจารย์มนตรี ตราโมท ครูเทียบ คงลายทอง ครูลม่อม ดูรยชีวิน หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) ครูประเวช กุมุท ครูพริ้ง ดนตรีรส แล้ว ไม่ปรากฎว่าวงเครื่องสายปี่ชวาวงใดจะบรรเลงได้ดีเท่าวงนี้เลย เพราะทุกคนมีฝีมือดีเท่าเทียมกันและชำนาญยิ่งในแนวทางของแต่ละคน ครูละเมียดเคยเดี่ยวจะเข้อัดเสียงไว้กับห้าง ต. เง็กชวน เพลงลาวแพน เขมรปี่แก้วทางสักวา กราวใน เป็นต้น ปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงเพลงลาวแพน ที่ยังพอจะหาฟังได้
ครูละเมียด สมรสกับ ขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี) มีบุตรชายคนเดียว ชื่อ เจริญ แต่มิได้เป็นนักดนตรีตามบิดามารดา ท่านถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติของกองการสังคีต กรมศิลปากร)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.