หม่อมส้มจีน (พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๕๔) 

หม่อมส้มจีน (พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๕๔) 

หม่อมส้มจีน

(พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๕๔) 

 

หม่อมส้มจีน เป็นภรรยาคนหนึ่งแต่มิใช่ภรรยาคนแรกของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ) เป็นนักร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่ทราบว่าเป็นบุตรีของท่านผู้ใด คาดว่าจะเกิดในปลายรัชกาลที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๐ – พ.ศ. ๒๔๐๕ เมื่อเป็นเด็กได้เข้ามาอยู่ในบ้านพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ) ณ ตำบลคลองบางหลวง  บริเวณคลองซอยทางเข้าคลองบางไส้ไก่ ธนบุรี  ได้ฝึกหัดร้องละครแต่ครั้งนั้น เนื่องจากเป็นคนเสียงดี จึงมีชื่อเสียงมาตั้งแต่อายุยังน้อย และได้ต่อเพลงสามชั้นกับครูแปลก ประสานศัพท์ (พระยาประสานดุริยศัพท์) และได้ชื่อว่าเป็นคนร้องเพลงสามชั้นดีมากคนหนึ่ง เคยร้องเพลงอยู่ในวังบูรพาภิรมย์ด้วย  

เมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้หัดดนตรีแก่ข้าหลวง ณ พระตำหนักในวังหลวง ราว พ.ศ. ๒๔๔๐ – พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้น  ครูแปลก ได้เข้าไปสอนดนตรี และหม่อมส้มจีนได้เข้าไปสอนขับร้อง  ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ได้ตั้งวงมโหรีหญิงขึ้น โดยมีขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นครูผู้ควบคุม เนื่องจากไม่มีครูสอนขับร้องเพลงสามชั้น พระอัครชายาฯ จึงทรงขอตัวหม่อมส้มจีนเข้ามาเป็นครูสอนขับร้องที่พระราชวังดุสิต จึงได้เป็นครูของ เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ครูของนางสาวเยี่ยม ณ นคร (ต่อมาเป็นคุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี  เยี่ยม  สุวงศ์  นักร้องมีชื่อ) รวมทั้งเป็นครูของ ครูท้วม ประสิทธิกุล ด้วย ส่วนศิษย์ที่เป็นนักร้องชาย เท่าที่ทราบมีเพียงผู้เดียว คือ นายหยิน (ต่อมาเป็นที่ขุนลิขิตสุนทร) เป็นนักร้องประจำอยู่แตรวงกองทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ ๕  

เนื่องจากมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (พระยาประสานฯ เกิด พ.ศ. ๒๔๐๓) และเล่นดนตรีด้วยกันเป็นประจำ จึงเข้าออกวังบูรพาภิรมย์อยู่เสมอ ได้ร่วมงานบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงร่วมกับพระยาประสานฯ และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง เมื่อครั้งยังใช้ชื่อว่า นายสอน)  มาตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเสียงในเมืองไทยใหม่ ๆ จนได้ชื่อว่า เป็นนักร้องหญิงไทยคนแรกที่ได้บันทึกเสียงลงกระบอกเสียง แบบเอดิสัน   

ผลงานของหม่อมส้มจีน ต่อมาได้บันทึกเป็นจานเสียงกับบริษัท International Talking Machine  เป็นแผ่นเสียงโอเดี้ยน ตราตึก จำนวนมาก  ปรากฎบนหน้าแผ่นเสียงว่า  ใช้พิณพาทย์วงนายแปลก  นายสอน ซึ่งก็คือ วงของวังบูรพาภิรมย์นั่นเอง  เพลงที่บันทึกไว้มี ตับนางลอย  เขมรใหญ่ ๓ ชั้น  ลมหวน ๓ ชั้น  มโหรีตับแขกมอญ มาลีหวน ๓ ชั้น แสนเสนาะ ๓ ชั้น บุหลัน ๓ ชั้น  ใบ้คลั่ง ๓ ชั้น  ครั้นครูแปลกได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนประสานดุริยศัพท์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ หม่อมส้มจีนได้อัดแผ่นเสียงรุ่นหลังสุดกับบริษัทพาโลโฟนและแผ่นเสียงตรารามสูร-เมขลา  ชุดนี้มีมโหรี  ตับทะแย  ต่อยรูป ๓ ชั้น การเวก ๓ ชั้น  ลมหวน ๓ ชั้น  ชมดงนอก  แขกมอญ ๓ ชั้น  ทยอยนอก ๓ ชั้น  สี่บท ๓ ชั้น  เชิดจีน บุหลัน ๓ ชั้น  จระเข้หางยาว ฯลฯ อีกมากมาย  จึงได้ชื่อว่า เป็นต้นตำรับการขับร้องเพลงสามชั้นในสมัยรัชกาลที่ ๕   

น้ำเสียงของหม่อมส้มจีนนั้น แหลมเล็ก ร้องเพลงชัดถ้อยชัดคำ  ลีลาการเอื้อนละเอียดละออหมดจด  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดว่า ร้องเพลงดีและทรงคุ้นเคยจนถึงบันทึกชื่อหม่อมส้มจีนไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน   

ชีวิตสมรสของหม่อมส้มจีนไม่สู้จะราบรื่นนัก เนื่องจากท่านพระยาผู้สามีนิยมเล่นการพนัน ภายหลังต้องพระราชอาญาและยากจนลงมาก  หม่อมส้มจีนต้องออกหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว แต่ท่านก็ยังรักและเคารพท่านเจ้าคุณสามีอยู่มาก เข้าใจว่าท่านเจ้าคุณจะถูกถอดยศ เพราะปรากฎว่าท่านเอ่ยนามของเจ้าคุณสามีว่า “ท่านผู้นั้น” มิได้เรียกว่า “เจ้าคุณ” เยี่ยงภรรยาทั่วไปจะพึงเรียกในการยกย่องสามี หม่อมส้มจีนมิได้มีบุตรกับเจ้าคุณเลย   

ใน พ.ศ. ๒๔๕๓  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต หม่อมส้มจีนได้กลับเข้าไปช่วยงานในวังหลวง พักอยู่ที่ตำหนักพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เพื่อช่วยงานครัวและร้อยดอกไม้ ซึ่งจะต้องทำเป็นประจำทุกวัน ด้วยงานพระบรมศพยังมีติดต่อกันอยู่ ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ขณะอยู่ในวังหลวงท่านป่วยด้วยโรคอหิวาต์ ท้องเสียอย่างแรง เพียงคืนเดียวอาการก็เพียบหนัก เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ได้ตามหม่อมเพื่อน (ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นเพื่อนรักของหม่อมส้มจีน มารับตัวออกจากวังไปอยู่กับหม่อมเพื่อน ได้วันเดียวก็ถึงแก่กรรม รวมอายุได้ ประมาณ ๕๐ ปี. 

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ในรัชกาลที่ ๕ และครูท้วม ประสิทธิกุล อาจารย์มนตรี ตราโมท คุณลาวัณย์ โชตามระ และจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเหมวดี พ.ศ. ๒๕๑๘) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.