หมื่นสมัคเสียงประจิตร์ (เจ๊ก ประสานศัพท์)
(พ.ศ. ๒๔๓๖-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)
ราชทินนามนี้เขียนไว้ ๒ แบบ คือ สมัคเสียงประจิต และสมัคเสียงประจิตร์ เดิมชื่อ เจ๊ก ประสานศัพท์ เป็นบุตรของนายแย้มและนางจ้อย เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ บ้านตำบลวัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร นายแย้มผู้เป็นบิดานั้นรับราชการในกระทรวงวัง ได้เป็นที่ “หมื่นไกรชวา” ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ กรมมหรสพ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระพิณบรรเลงราช”
พระพิณบรรเลงราชเป็น น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) หมื่นสมัคเสียงประจิตร์ จึงเป็นหลานลุงของพระยาประสานฯ และได้เรียนดนตรีไทยจากบิดาและลุงมาตั้งแต่เล็กจนสามารถเป่าปี่ได้ดี และเล่นปี่พาทย์ได้รอบวง
เมื่อายุได้ ๑๓ ปี ได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดเทพธิดาราม เรียนจนจบชั้นปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ และได้เข้ารับราชการในกรมพิณพาทย์หลวง ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ รับพระราชทานเงินเดือนขั้นแรก เดือนละ ๒๐ บาท รับราชการติดต่อกันมาเป็นเวลา ๖ปี ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๘ บาท และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หมื่นสมัคเสียงประจิตร์” พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพราะป่วย (ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร) และย้อนกลับเข้ารับราชการอีกในปีต่อมาทำงานอยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไปเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ จากนั้นก็มิได้กลับเข้ารับราชการอีกเลย
หมื่นสมัคฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้เป่าปี่ประจำสนามมวยคนแรกของเวทีมวยราชดำเนิน ท่านแต่งงานกับนางสาวทิพย์ บุตรนายกี้ นางคำ (ไม่ทราบนามสกุล) และไม่ทราบว่ามีบุตรเป็นนักดนตรีหรือไม่ หมื่นสมัคฯ มีน้องชายต่างมารดาคนหนึ่ง ชื่อนายปรุง ประสานศัพท์ รับราชการอยู่ในวงดนเครื่องสายฝรั่งหลวง ซึ่งก็เป็นศิษย์ของพระยาประสานฯ และพระเจนดุริยางค์ นายปรุงได้แยกเสียงประสานเพลงไทยตามแนวสากลไว้หลายเพลง และยังใช้บรรเลงมาจนทุกวันนี้
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติของกรมมหรสพ คำบอกเล่าของ อาจารย์มนตรี ตราโมท และ “ประวัตินักดนตรีไทย” ของ เจริญชัย ชนไพโรจน์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.