สว่าง สอนเสนาะ (พ.ศ. ๒๔๖๕-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

สว่าง สอนเสนาะ (พ.ศ. ๒๔๖๕-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

สว่าง สอนเสนาะ

(พ.ศ. ๒๔๖๕-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

 

นายสว่าง สอนเสนาะ  เป็นอาจารย์สอนวิชาคีตศิลป์ ในวิทยาลัยนาฎศิลป ของกระทรวงศึกษาธิการ   มีชื่อเดิมว่า “แก้ว”  เกิดที่ตำบลสวนหลวง  อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕   

บิดาของนายสว่างชื่อ  ครูไม้  สอนเสนาะ  มีอาชีพเป็นนักดนตรีแห่งอัมพวา  ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก ครูสุข  และนางสั้น สอนเสนาะ ซึ่งก็มีเชื้อสายนักดนตรีไทย   

มารดาของนายสว่างชื่อ ผ่อง สกุลเดิม เจริญหรุ่น ซึ่งเป็นบุตรีของ นายพุตและนางห่วง  เจริญหรุ่น  

เมื่อยังเยาว์ เรียนหนังสือที่วัดสวนหลวง  อำเภออัมพวา จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้วเข้าเรียนต่อในโรงเรียนนาฏดุริยางค์ (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร) จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้ว อุปสมบทที่วัดสวนหลวง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นเวลาหนึ่งพรรษา   

เริ่มเรียนดนตรีไทยที่บ้าน  โดยลุงเป็นผู้สอนตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ สามารถทำเพลงโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น และตีฆ้องเพลงเรื่องต่าง ๆ ได้ตั้งแต่อายุ ๘ ปี เมื่อมาอยู่โรงเรียนนาฎดุริยางค์แล้ว ได้เรียนดนตรีกับอาจารย์อีกหลายท่าน และได้เรียนระนาดเป็นพิเศษกับครูโองการ กลีบชื่น  แล้วต่อมาได้เรียนเพลงหน้าพาทย์กับท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ จนสามารถบรรเลงโขนละคร รวมทั้งเพลงสำหรับพิธีการไหว้ครูได้  

มีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาการดนตรีเป็นอย่างดีและสอนได้ทุกเครื่องมือ ไม่ว่าปี่พาทย์หรือเครื่องสาย ที่ชำนาญมากคือ ระนาด และได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีไทย อยู่ที่วิทยาลัยนาฎศิลป จังหวัดเชียงใหม่  ด้านครอบครัวมีภรรยาชื่อ ฉวีวรรณ แต่งงานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐  บุตรสาว ๓ คน และบุตรชาย ๔ คน  

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ห้องสมุดทูนกระหม่อมบริพัตร) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.