สังวาลย์ กุลวัลกี
(ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)
นายสังวาลย์ กุลวัลกี เป็นนักดนตรีอยู่วังบูรพาภิรมย์มาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม มีฝีมือทางเครื่องสายเป็นเลิศ โดยเฉพาะดีดจะเข้ได้คล่องแคล่วชำนาญมาก อยู่ในวังบูรพามาก่อนหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นครูเครื่องสายที่ได้รับการยกย่องมาก ถึงมีการขอตัวเข้าไปสอนเครื่องสายที่พระตำหนักของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในวังหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระราชชายาก็ทรงต่อจะเข้จาก ครูสังวาลย์ และโปรดฯ ให้เจ้าบัวชุม เจ้าเทพกัญญา เจ้าบุญปัน เรียนจะเข้ด้วยในครั้งนั้นจนเก่งทุกคน
ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงพระนครสวรรค์วรพินิต ทรางสร้างวังบางขุนพรหมแล้ว ได้ขอตัวครูสังวาลย์มาสอนเครื่องสายถวายพระธิดาทั้ง ๕ พระองค์ ที่วังบางขุนพรหม จนทรงดนตรีได้ดีทุกพระองค์ ทูนกระหม่อมบริพัตรทรงยกย่อง เรียก “ครูสังวาลย์” และทรงนิยมว่าเป็นคนจะเข้ฝีมือดีแม่นเพลงมาก จนทรงหารือเรื่องเพลงการต่าง ๆ ด้วยเป็นประจำ ครูสังวาลย์นั้นได้ชื่อว่า ต่อทางเพลงให้ศิษย์ทุกคนสีไม่เหมือนกัน แต่เวลามาบรรเลงรวมกันแล้วเกิดเสียงประสานไพเราะนัก
วงเครื่องสายวังบางขุนพรหมที่ครูสังวาลย์สอนนั้นมีนักดนตรี คือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง ทรงซอด้วง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธวงษ์วิจิตร ทรงซออู้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย ทรงจะเข้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงซออู้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี ทรงซอด้วงหรือซอสามสาย คุณหญิงแฉล้ม เดชปฏิยุทธ ตีโทนรำมะนา คุณสุดา (สยุ้น) จาตุรงคกุล เป่าขลุ่ย คุณสว่าง (วิเชียรปัญญา) คงลายทอง เป็นคนร้อง บางทีก็มีคนชื่อ หอม สุนทรวาทิน และเทียม กรานต์เลิศ เป็นคนร้องอีกด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จกลับไปประทับที่เชียงใหม่แล้ว ทรงส่งหลาน อาทิเช่น เจ้าโสภา เจ้าเครือแก้ว ให้มาเรียนจะเข้กับครูสังวาลย์อีกด้วย ทรงนับถือว่าเป็นครูดี ครูสังวาลย์ยังได้สอนจะเข้ให้แก่พระราชวงศ์อีกหลายพระองค์
ครูสังวาลย์ มีภรรยาชื่อใดยังค้นไม่ได้ ทราบว่ามีบุตรีเป็นนักดนตรีสีซอไพเราะชื่อ สาย กุลวัลกี ต่อมาคุณสายได้แต่งงานกับ หลวงบุญมานพมานิตย์ (นักเขียนซึ่งใช้นามปากกาว่า แสงทอง)
ครูสังวาลย์ ถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลปัจจุบัน ยังค้นหาหลักฐานเดือนปีที่ถึงแก่กรรมไม่ได้
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.