สำราญ ภมรสุต (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๑๖) 

สำราญ ภมรสุต (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๑๖) 

สำราญ ภมรสุต

(พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๑๖)

 

นายสำราญ ภมรสุต เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนประถมวัดสุทัศนเทพวราราม แล้วย้ายไปเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อจากนั้นได้เข้าเรียนต่อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แผนกวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยยังตั้งอยู่ที่ตำบลหอวัง คือบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติทุกวันนี้ เรียนจนจบหลักสูตรในสมัยนั้น เป็นเวลา ๓ ปี  

เริ่มเรียนดนตรีไทยกับ ครู่อั๋นเป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งเป็นคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยเรียน ซอด้วง และไวโอลิน แล้วเรียนออร์แกนจาก พันโทพระอภัยพลรบ โดยไปเรียนที่วังกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ จนสามารถเล่นออร์แกนเดี่ยวได้ ราว พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้เริ่มหัดเรียนขิมด้วยตนเอง จนสามารถตีขิมได้คล่อง และเมื่อครูพร้อมเริ่มนำออร์แกนมาประสมวงเครื่องสายไทยเป็นที่นิยมขี้น นายสำราญก็ได้ทำหน้าที่เป็นคนดีดออร์แกนประจำวงเครื่องสายผสม บางครั้งก็ทำหน้าที่ตีขิมบ้าง สีซอบ้าง จนสามารถเล่นเครื่องสายได้รอบวง รวมทั้งขับร้องด้วย  

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ไปทำงานที่บริษัทไม้ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทำให้ห่างเหินวงดนตรีไทย และเพื่อนฝูงไป แต่เมื่อมีโอกาสก็ยังตีขิม และเล่นเครื่องสายคนเดียวจนสามารถคิดทางเดี่ยวออร์แกนเป็นของตนเองได้หลายเพลง เครื่องดนตรีที่ถนัดมากคือออร์แกน ขิม และซอทุกประเภท เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพแล้วจึงได้ร่วมวงอีก และเป็นครูสอนตามโรงเรียนหลายแห่ง รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลด้วย  

ในด้านการแต่งเพลง ได้ทำทางขับร้องเพลงปฐมดุสิตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓  แต่งเพลงโหมโรงมหาชยาภิรมย์ อันเป็นเพลงโหมโรงประจำวงดนตรีไทยของมหาวิทยาลัยมหิดล เพลงเถาที่ประดิษฐ์เป็นเพลงเครื่องสาย ได้เขียนโน้ตไว้อย่างเรียบร้อย มีอาทิ เพลงแขกบันเทิงเถา นาคบริพัตรเถา ทะแยตัดเถา พระลอครวญเถา นกแก้วเขมรเถา สร้อยประดับทรวงเถา และแขกมอญสามเสนในเถา  

นายสำราญ ได้ชื่อว่ามีศิษย์มากมายนับร้อย ศิษย์ที่ใกล้ชิดก็มี ครูละเมียด ทับสุข ครูศิริ นักดนตรี น.พ.เอื้อพงษ์ จตุรธำรง ผุสนี ทัดพินิจ เป็นต้น ครูถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ อายุได้ ๗๓ ปี 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายสำราญ ภมรสุต) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.