พระสำอางค์ดนตรี (พลบ สุอังควาทิน)
(พ.ศ. ๒๔๐๙ – ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)
พระสำอางค์ดนตรี (พลบ สุอังควาทิน) เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๙ ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล เป็นบุตรของหลวงสำอางค์คนตรี (ภักดิ์ สุอังควาทิน) ซึ่งเป็นข้าราชการกรมมหรสพสมัยรัชการที่ ๔ และนางพร้อม เมื่อยังเล็กได้เรียนหนังสือกับครูแฉ่งและเรียนดนตรีจากบิดา เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี (พ.ศ.๒๔๑๙) ได้เป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์ แผนกพิณพาทย์หลวง รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๖ บาท ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานดนตรีตลอดมาจนถึง พ.ศ.๒๔๓๔ อายุได้ ๒๕ ปี จึงย้ายไปรับราชการเป็นเสมียนที่กระทรวงคลังมหาสมบัติ ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๖ บาท ถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๓๙ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แทนบิดาเป็น หลวงสำอางค์ดนตรี เจ้ากรมพิณพาทย์มหาดเล็ก รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑๐๐ บาท รับหน้าที่และตำแหน่งแทนท่านบิดาแล้ว ได้ย้ายไปอยู่กระทรวงเกษตราธิการในปี พ.ศ.๒๔๔๒ อยู่เป็นเสมียนกระทรวงเกษตรฯ มาจนถึง พ.ศ.๒๔๕๕ จึงได้ย้ายกลับมาสังกัดกองดนตรีหลวงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ย้ายมาอยู่กรมพิณพาทย์หลวงกรมมหรสพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็น พระสำอางค์ดนตรี รับราชการในกรมมหรสพ ในฐานะสมุหบัญชี กรมมหรสพไปจนสิ้นรัชกาล แล้วออกไปรับบำนาญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ บ้านพักท่านอยู่ที่ถนนราชบพิธ กรุงเทพฯ
พระสำอางค์ดนตรี เป็นปี่พาทย์หลวงเก่าแก่มาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รุ่นราวคราวเดียวกับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) แก่กว่าพระยาเสนาะฯ เพียง ๓ เดือน มีความสามารถในทางดนตรีเป็นเครื่องตี เช่น ระนาดและฆ้อง เคยสีซออู้ในวงหลวงสมัยรัชกาลที่ ๖ บ้าง แต่งานหลักของท่านเป็นสมุหบัญชี
แต่งงานกับ นางสาวปิ๋ว สุอังควาทิน บุตรีนายอ่ำ นางเจียม บ้านอยู่ท่าเตียน สมรสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ มีบุตร ๓ คน ชื่อ ผัน แผ้ว และประภาส แต่ไม่มีใครเป็นนักดนตรีเลย
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของอาจารย์มนตรี ตราโมท)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.