สืบสุด ดุริยประณีต
(พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๕๐๖)
นายสืบสุด ดุริยประณีต เป็นบุตรชายคนเล็กของ นายศุข และนางแถม ดุริยประณีต เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๘ ณ ตำบลสามพระยา อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร มีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ไก่”
ครู ไก่ มีนิสัยรักดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ชอบตีระนาดเล่นเสมอตั้งแต่อายุได้ ๘ ปี โดยใช้หีบใส่ลูกระนาดเหล็กรองนั่ง เพราะยังเอื้อมตีระนาดไม่ถึง จนเมื่ออายุได้ ๑๑ ปี บิดา คือ ครูศุข ซึ่งเป็นนักดนตรีชั้นครูผู้ใหญ่ในสมัยนั้น จับมือให้ตีฆ้องใหญ่ เพลงสาธุการ เป็นเพลงแรก จากนั้นพวกพี่ ๆ ของครูไก่ที่เกิดแต่พ่อศุขและแม่แถม คือ นางชุบ นายโชติ นายชั้น นางเชื่อม นางแช่มช้อย นางชม นางทัศนีย์ นางสุดจิตต์ ก็ถ่ายทอดวิชาให้จนไปร่วมวงปี่พาทย์ได้
เพลงใดที่ขัดข้อง ก็ไปถามจากครูสอน วงฆ้อง และ ครูพุ่ม บาปุยะวาส ทำให้ครูไก่ มีชื่อเสียงอยู่ในวงการศิลปินมาก ในบรรดานักดนตรี อายุรุ่นราวคราวเดียวกันจะหาผู้มีฝีมือในทางระนาดเอก ระนาดทุ้ม และฆ้องใหญ่ เทียบครูไก่ได้น้อยเต็มที
ชีวิตการทำงานนั้น เริ่มเข้ารับราชการในกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ณ แผนกดนตรีไทย ทำหน้าที่คนตีระนาดเอก
ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ นางเรณู มีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คนคือ สืบศักดิ์ ศิริณา พิพัฒน์
นายสืบสุด หรือครูไก่ ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะพ่อศุขยกวงไปบรรเลงดนตรีที่ จังหวัดลพบุรี แต่เดินทางถึงแค่อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา ก็เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ เสียชีวิตทั้งพ่อศุข และครูไก่ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ รวมอายุได้ ๒๘ ปี
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์ งานฌาปนกิจศพ นายสืบสุด (ไก่) ดุริยประณีต ณ เมรุวัดสังเวชวิศยาราม วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.