เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๖๑-๒๕๒๙) 

เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๖๑-๒๕๒๙) 

เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่

(พ.ศ.๒๔๖๑-๒๕๒๙) 

 

เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ เป็นบุตรชายของเจ้าสิงห์นนท์ และเจ้าแม่บุญนำ ณ เชียงใหม่ และเป็นหลานปู่ของเจ้าราชบุตร (ตื้อ) เกิดในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ สนใจดนตรีพื้นเมืองลานนา และเล่น ซอเมืองได้ดีมากมาตั้งแต่อายุน้อย ต่อมาได้เรียนดนตรีไทย (ภาคกลาง) จากครูดนตรี ๓ คนคือ ครูรอด อักษรทับ ครูช่อ สุนทรวาทิน และครูฉัตร สุนทรวาทิน จนสามารถเล่นเครื่องสายไทยได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถร้องเพลงไทยได้ด้วย และยังได้ประดิษฐ์เพลงพื้นเมืองหลายเพลงสำหรับบรรเลงในวงพิเศษ “ลานนามหาดุริยางค์” 

 เจ้าสุนทรมีภรรยาชื่อ สมศรี มีบุตร ๓ คน ชื่อ สุรีย์ ศิวิไล และสุรศักดิ์ ทั้งสามคนเล่นเครื่องสายไทย และเล่นดนตรีพื้นเมืองได้ดี นอกจากจะเป็นครูสอนดนตรีพื้นเมือง ที่วิทยาลัยนาฏศิลป จังหวัดเชียงใหม่แล้ว เจ้าสุนทรยังมีฝีมือในการประดิษฐ์เครื่องดนตรี ออกจำหน่ายแจกจ่าย ได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องดนตรีมีคุณภาพดี อาทิ สะล้อ ซึง ปี่จุม ระนาด ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และฆ้อง นับว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีไทยที่สำคัญของเชียงใหม่

เจ้าสุนทรได้ช่วยสอนดนตรีอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ เป็นผู้มีส่วนช่วยในการก่อตั้งวงลานนามหาดุริยางค์ ๒๕๐ คน และถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๙ ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมอายุได้ ๖๘ ปี 

 

พูนพิศ อมาตยกุล 

(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ เจ้าสมุทร ณ เชียงใหม่) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.