แสวง อภัยวงศ์
(พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๑๕)
นายแสวง เป็นบุตรของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) และหม่อมถนอม เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ที่จังหวัดปราจีนบุรี มีพี่น้องท้องเดียวกัน ๓ คน คือ เพียร อภัยวงศ์ (กัลยาณมิตร) และจิตรเสน อภัยวงศ์
เมื่อยังเยาว์ได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนอภัยพิทยาคาร วัดแก้วพิจิตร จังหวัดปราจีนบุรี จนอายุ ๑๐ ปี จึงได้เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๒ จึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์
เริ่มเรียนดนตรีไทยกับพระเพลงดุริยางค์แล้วมาเรียนต่อจากหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ชำนาญในการเล่นเครื่องสายมาก และดีดจะเข้ได้ไหวเรียบมาก จนมีชื่อเสียงในวงการดนตรีไทย ทั้งยังเป็นจิตรกรสมัครเล่นที่มีฝีมือดีมากคนหนึ่ง
เริ่มรับราชการในกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง แล้วย้ายไปทำหน้าที่ด้านการเงินที่สำนักงานข้าว แล้วลาออกมารับราชการในกรมศิลปากรเป็นครูสอนดนตรีอยู่หลายปี แล้วจึงลาออกมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินโรงงานยาสูบจนถึงแก่กรรม
นายแสวงเป็นหัวหน้าวงดนตรี คณะ ส.สุรางคศิลป์ เป็นวงเครื่องสายที่บรรเลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงเป็นประจำ ฝีมือจะเข้ของท่านได้รับความนิยมและยกย่องว่าเป็นฝีมือชั้นครู สอนตั้งแต่นักเรียนในกรมศิลปากรไปจนถึงสอนชาวต่างชาติ เช่น ชาวเขมรที่มาจากพระตะบอง
ชีวิตสมรสได้แต่งงานกับ นางสาวประคอง พุ่มทองสุข ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นนิภา อภัยวงศ์ ทั้งสองสามีภรรยาเป็นนักดนตรี ครูสอนดนตรีและนักร้องของวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร แต่ไม่มีบุตรสืบสกุล
งานอดิเรกอีกอย่างของครูแสวง คือการวาดภาพลายไทยลายวิจิตร เป็นภาพรามเกียรติ์ ตอนหนุมานหักคอช้างเอราวัณ และตอนหนุมานยึดรถพระอาทิตย์เป็นต้น นับเป็นภาพเขียนลายวิจิตรแบบไทยแท้ที่จัดได้ว่าฝีมือดีเป็นเยี่ยม ครูแสวงถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ อายุ ๖๒ ปี ได้ทำการฌาปนกิจศพที่วัดธาตุทองเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕๕
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำให้สัมภาษณ์ของ ครูนิภา อภัยวงศ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.