หลวงเสียงเสนาะกรรณ (พัน มุกตวาภัย)
(ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)
หลวงเสียงเสนาะกรรณ มีนามเดิมว่า พัน มุกตวาภัย เกิดที่บ้านบางไก่ซ้อน ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เดิมเป็นนักเทศน์และนักสวดคฤหัสถ์มาก่อน แล้วเข้ามารับราชการในกรมมหรสพ มีหน้าที่เป็นนักร้อง หลวงเสียงฯ ได้ต่อเพลงจากพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และหม่อมส้มจีน เดิมทีเดียวร้องเพลงสามชั้น แล้วมาต่อเพลงละครดึกดำบรรพ์จาก หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา ในตอนหลัง ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นครูสอนขับร้องอยู่ในวัง และที่พระตำหนักของพระสุจริตสุดา พระสนมเอก
พ.ศ. ๒๔๖๘ ก่อนพระยาประสานดุุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จะถึงแก่กรรมไม่นานนักหลวงเสียงฯ ก็มีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียงกับบริษัทแผ่นเสียงตราสุนัข บันทึกเสียงที่โรงละครสวนมิสกวัน มีพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) เป็นคนตีระนาดเอกและควบคุมวง หลวงเสียง ฯ เป็นผู้ขับร้องคู่กับหมื่นขับคำหวาน (เจิม นาคมาลัย) เพลงที่บันทึกไว้ครั้งนั้น ได้แก่ เพลงเขมรไทยโยค (บทร้องจากเรื่อง วั่งตี่ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ละครดึกดำบรรพ์เรื่องอิเหนา ตอนบวงสรวง ตอนตัดดอกไม้ฉายกริชละครดึกดำบรรพ์ เรื่องคาวี ฯลฯ หลายชุดด้วยกัน
หลวงเสียงเสนาะกรรณ ได้ชื่อว่า เสียงเพราะลีลานุ่มนวล คล้ายผู้หญิง เสียงค่อนข้างแหลมกว่าผู้ชายทั่วไป ท่านตีกรับขับเสภา และแหล่เทศน์ได้ดีมีผู้นิยมเชิญท่านไปทำขวัญนาคอยู่เป็นประจำศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงในทางขับร้อง ได้แก่ครูนิภา อภัยวงศ์ ครูแนบ เนตรานนท์ ครูประเทือง ณ หนองหาร ครูสุดา เขียววิจิตร ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ครูอุษา สุคันธมาลัย ครูแช่มช้อย ดุริยประณีต และครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์
ครูนิภา อภัยวงศ์ เล่าว่า หลวงเสียงฯ เป็นคนใจดี ใจเย็น เวลาร้องเพลงจะนั่งยิ้ม งามทั้งท่าทีและเสียงร้อง ท่านเคยเป็นผู้ขับเสภาถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาทรงพระเครื่องใหญ่ โดยขับเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผนบ้าง เรื่องพระยาราชวังสันบ้าง
ชีวิตครอบครัวของหลวงเสียงเสนาะกรรณนั้น ไม่สามารถสืบได้ ทราบแต่ว่า มีบ้านพักอยู่ที่ฝั่งธนบุรี ระหว่างตำบลสวนอนันต์ กับตำบลบ้านขมิ้น และเคยถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ได้รับเงินรางวัลสองแสนบาท ไม่มีใครจำได้ว่า หลวงเสียงเสนาะกรรณ ถึงแก่กรรมเมื่อใด จำได้แต่ว่า ศพของท่านได้รับพระราชทานเพลิง ที่วัดอัมรินทราราม ธนบุรีีี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของครูนิภา อภัยวงศ์ และครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.