หน่วง ดุริยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๕๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

หน่วง ดุริยพันธุ์ (พ.ศ. ๒๔๕๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

หน่วง ดุริยพันธุ์

(พ.ศ. ๒๔๕๔-ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) 

 

นายหน่วง ดุริยพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลวัดทองนพคุณ อำเภอคลองสาน ธนบุรี สืบเชื้อสายนักดนตรีมาจากครูโนรี ดุริยพันธุ์ ผู้เป็นปู่ บิดาชื่อเนื่อง มารดาชื่อ โกสุมภ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นนักร้องมีชื่อเสียงของกรมศิลปากร คือครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์   

เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนวัดทองนพคุณ จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ในขณะเดียวกันได้เริ่มเรียนดนตรีไทยจากบิดามาตั้งแต่เล็ก และได้เป็นศิษย์ของ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) มีความสามารถในทางปี่พาทย์ดี แต่ที่มีฝีมือลือเลื่องมาก ได้แก่ เครื่องหนัง   

พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรวิชาดุริยางค์ไทย ของกรมศิลปากรเป็นเวลา ๑ ปี แล้วฝึกงานจนถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗  จึงได้เข้ารับราชการ ขณะนั้นมีอายุได้ ๓๒ ปี  เป็นศิลปินจัตวา อัตราเงินเดือน เดือนละ ๒๔ บาท และได้ออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัวตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔   

นายหน่วงได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความสามารถในการตีกลองทุกประเภท มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการทำเครื่องหนัง ขึ้นหน้ากลองและซ่อมแซมกลองเก่งมาก ตะโพนดี ๆ นั้น เล่ากันว่า ต้องฝีมือ “ครูหน่วง”  จึงจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นของดีจริง  ต่อมาท่านได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางยี่ขัน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านมีภรรยาชื่อ ประมูล ไม่มีบุตรสืบสกุลด้วยกันและญาติของครูหน่วงไม่มีใครจำได้ว่า ครูหน่วงเสียชีวิตเมื่อใด 

 

พูนพิศ อมาตยกุล  

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติของกรมศิลปากร และคำบอกเล่าของผู้สืบสกุลดุริยพันธุ์) 

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุลหัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมโครงการพิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย๒๕๒๖.