เจ้าจอมมารดาเหม ในรัชกาลที่ ๕
(พ.ศ. ๒๔๐๗-๒๔๗๔)
เจ้าจอมมารดาเหม เป็นบุตรีคนโตของพระยาธรรมสารนิติวิชิตภักดี (พลับ อมาตยกุล) และท่านขรัวยายแสง เกิดที่บ้านหน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๗ มีน้องชาย ๒ คน และน้องสาว ๑ คน ไม่มีใครเป็นนักดนตรี
เมื่อเล็กได้เรียนหนังสือที่บ้านจนอ่านออกเขียนได้ดี และเนื่องจากในบ้านของท่านเป็นที่อยู่ของญาติตระกูลใหญ่ ซึ่งมีพี่น้องหญิงชายรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน คุณอาของท่านคือ พระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล) ก็เชี่ยวชาญซอสามสาย น้องของท่านที่เกิดจากพระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ชื่อ ประคอง อมาตยกุล) ก็สีซอสามสายได้ดีมาก และยังมีน้องสาวลูกของอาอีกคนหนึ่ง ชื่อ สังวาลย์ อมาตยกุล เป็นบุตรีของพระยากษาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ก็เก่งในการดีดกระจับปี่ ในบ้านของท่านจึงมีวงเครื่องสายเล่นอยู่เป็นประจำ จึงคุ้นเคยกับดนตรีและการขับร้องมาแต่ยังเยาว์
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี บิดาได้นำไปฝากให้อยู่ในความดูแลของท้าวทรงกันดาล (วรรณ อมาตยกุล) ผู้มีศักดิ์เป็นอาแท้ ๆ และเป็นผู้บังคับการพระคลังฝ่ายในอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วยน้องสาวของท่านที่ชื่อ ประคอง (สีซอสามสาย) ได้เรียนวิชาที่กุลสตรีสมัยนั้นนิยม คือ การช่างการฝีมือ และการขับร้อง จนสามารถร้องเพลงตับมโหรีโบราณได้โดยตลอด แม้ว่าเสียงจะไม่ดีนักแต่ก็ร้องเป็นต้นเสียงได้ดีเพราะแม่นเพลง ได้รับการฝึกหัดให้บรรเลงมโหรีเครื่องสี่และมโหรีเครื่องหก แบบโบราณสมัยอยุธยา รวมทั้งเรียนวิชาหมอนวดและปรุงน้ำอบไทย
ต่อมาได้ถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายใน และได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ เมื่ออายุ ๑๔ ปี ได้ร่วมทำหน้าที่เป็นพนักงานมโหรีฝ่ายใน บรรเลงมโหรีเครื่องสี่ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาทรงว่างพระราชธุระ ซึ่งมักเป็นเวลาดึก ๆ น้องสาวของท่าน คือ นางสาวประคอง และนางสาวสังวาลย์ ก็ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมอยู่งานทั้ง ๒ คน และได้เพื่อนเจ้าจอมรุ่นเดียวกันอีกคนหนึ่ง คือ เจ้าจอมมารดาวาด ครบเป็น ๔ คน ร่วมบรรเลงมโหรีเครื่องสี มีเจ้าจอมประคองสีซอสามสายเจ้าจอมสังวาลย์ดีดกระจับปี่ ตัวท่านเองกับเจ้าจอมมารดาวาด เป็นคนขับร้องและตีเครื่องประกอบจังหวะ
ต่อมาเจ้าจอมมารดาวาด มีครรภ์ และประสูติพระองค์เจ้า คือ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และเจ้าจอมมารดาเหม ก็มีพระองค์เจ้าชายประสูติองค์หนึ่ง แต่สิ้นพระชนม์ก่อนครบกำหนด แล้วจึงประสูติพระองค์เจ้าหญิงอีกพระองค์หนึ่งตามมา ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ามัณฑนาภาวดี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนพระนามใหม่เป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเหมวดี เมื่อมีพระองค์เจ้าประสูติแล้ว หน้าที่พนักงานมโหรีก็จบลงเพราะต้องเลี้ยงลูก
เจ้าจอมมารดาเหมเป็นผู้รักดนตรี และได้สนิทสนมกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นพิเศษ จึงได้รื่นเริงกับดนตรีไทยต่อมาจนถึงปลายรัชกาลที่ ๕ (ราว พ.ศ. ๒๔๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑) ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ท่านป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านม และยอมให้แพทย์ฝรั่งทำการผ่าตัดอย่างกล้าหาญ นับเป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับการรักษามะเร็งที่เต้านมเป็นผลสำเร็จ รอดชีวิตมาได้อีก ๒๕ ปี จึงถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมอายุได้ ๖๗ ปีเต็ม
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ น.ส.ทับ น.ส.ทบ อมาตยกุล และประวัติที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเหมวดี ทรงพระกรุณาเล่าประทาน)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.