เหมือน ดูรยประกิจ
(พ.ศ. ๒๔๒๐- ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม)
นายเหมือน ดูรยประกิจ เป็นนักดนตรีไทยที่เชี่ยวชาญเครื่องหนัง ตีกลองเก่งมากคนหนึ่ง เกิดเมื่อเดือน ๑๑ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นบุตรของนายโคก นางจั่น อยู่บ้านถนนหลังวัดโสมนัสวรวิหาร ตำบลนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเวรฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๓ อายุ ๑๓ ปี มีหน้าที่อยู่ในกองพิณพาทย์หลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เบี้ยหวัดขั้นต้นปีละ ๖ บาท
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ย้ายมาเป็นมหาดเล็กยามกรมโยธาพิณพาทย์หลวง รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท และได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตีเครื่องหนังกับเครื่องประกอบจังหวะอื่น ๆ มาตั้งแต่ครั้งนั้น ไม่ทราบว่าเป็นศิษย์ของใคร
อาจารย์มนตรี ตราโมท อธิบายว่า นายเหมือนเป็นคนตีกลองแขกที่มีชื่อเสียงมาก และตีกลองคู่กับนายสาย (ไม่ทราบนามสกุล และนายสายนี้มิได้รับราชการ) เมื่อเวลาเข้าคู่ตีกลองด้วยกันแล้วดีมาก เพราะฝีมือตีกลองต้องกัน เป็นคนกลองคู่สำคัญสมัยรัชกาลที่ ๖ และได้แต่งทางร้องเพลงเขมรพวงเถาด้วย
นายเหมือน มีภรรยาชื่อ นวล เป็นบุตรีของนายชู และนางนุ่ม บ้านอยู่ถนนเจริญกรุง แต่งงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ แต่ไม่ปรากฏว่ามีบุตรสืบสกุล
เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุลให้นายเหมือนว่า “ดูรยประกิจ” ซึ่งเป็นการพระราชทานพร้อมกันทั้งหมด ๗ คน ทุกคนได้คำนำหน้านามสกุลว่า “ดุรย” หรือ “ดูรย” ทั้งนั้น คือ
ดูรยชีวิน อุ่น หลวงไพเราะเสียงซอ
ดุรยาชีวะ ส่าน ขุนฉลาดฆ้องวง
ดุรยประกร เพ็ง
ดูรยประกิจ เหมือน
ดูรยประสาธน์ สิน
ดูรยประกฤต ใส
ดูรยประณีต สุก
ดูรยประมา วัง
นายเหมือนรับราชการมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๖ แล้วออกจากราชการไปไม่สามารถติดตามประวัติได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นต้นมา
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียบจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง และคำบอกเล่าของ อาจารย์มนตรี ตราโมท)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.