พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล (ประสงค์ อมาตยกุล)
(พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๙๕)
พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล เกิดที่บ้านหน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (บริเวณที่เป็นเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร) เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นบุตรนายหนู และนางหนู อมาตยกุล นายหนูผู้บิดานั้นเป็นบุตรของพระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เจ้ากรมกสาปน์สิทธิการ สมัยรัชการที่ ๔ และที่ ๕ ส่วนนางหนูผู้เป็นมารดานั้น เป็นบุตรีของพระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด อมาตยกุล) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญซอสามสาย และเป็นอธิบดีศาลต่างประเทศ ดังนั้นนอกจากบิดามารดาของท่านจะชื่อ “หนู” เหมือนกันแล้ว ท่านยังเกิดในวงตระกูล “อมาตยกุล” ด้วยกัน แต่ต่างสายกันเท่านั้น
ทั้งนายหนูและนางหนู เป็นผู้รักดนตรีไทยมีวงเครื่องสายประจำบ้าน สำหรับนางหนูนั้น นอกจากจะสีซอด้วงและสีไวโอลินเก่าแล้ว ยังเป็นนักร้องเสียงดีอีกด้วย ในบ้านของพระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล จึงเป็นดนตรีกันทุกคน โดยมีพระยาอมาตยพงศ์เป็นบุตรชายคนใหญ่ (สีซอได้ทุกชนิด) มีน้องสาวคนรองมาชื่อ ดรุณี อมาตยกุล (จะเข้) ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ คุณดรุณีเป็น “ครูเฒ่าแก่ดรุณี” อยู่ในวังหลวง น้องสาวคนถัดมาชื่อ อาภรณ์ (ซอด้วง) และน้องคนสุดท้องเป็นชายชื่อ ขุน อมาตยพงศ์ (ศิริ อมาตยกุล) ชำนาญทางเป่าขลุ่ย
พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล เรียนซอด้วง ซออู้ และไวโอลินที่บ้าน โดยบิดามารดาเป็นผู้สอนและได้ร่วมวงเล่นเครื่องสายมากับญาติผู้ใหญ่ของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ตัวท่านเองก็เป็นเพื่อนกับท่านครูจางวางทั่ว โดยมีอายุอ่อนกว่าท่านครูจางวางทั่ว ราว ๒ ปี
เมื่อโตขึ้นได้เรียนสีซอสามสายจากเจ้าจอมประคอง ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นคุณป้า แต่เรียนไม่ได้นาน ท่านก็สอบชิงทุนรัฐบาลได้ เสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงส่งไปเรียนวิชากฎหมายกลับมารับราชการที่กระทรวงยุติธรรมในปลายรัชกาลที่ ๕ และตลอดมาในรัชกาลที่ ๖ และ ๗ เมื่อกลับมาจากเมืองนอกได้ไม่นาน เจ้าจอมประคองในรัชกาลที่ ๕ ได้ออกจากวังหลวงมาอยู่บ้านของตนเอง จึงได้กลับไปเรียนซอสามสายเพิ่มอีก จนมีความสามารถเชี่ยวชาญ เป็นที่เคารพนับถือ ตลอดเวลาที่รับราชการนั้น ท่านเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก รวมทั้งสอนดนตรีให้แก่ผู้ที่มาขอต่อเพลงทุกคนด้วยความเมตตาอารี
พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล ได้ย้ายบ้านจากหน้าวัดเลียบของบิดามาอยู่ที่บ้านถนนรองเมืองและได้แต่งงานกับ นางสาวถนอม สวัสดิชูโต บุตรคนหัวปีของ พระยาสุนทรนาฎ ฯ คุณหญิงถนอม อมาตยพงศ์ธรรมพิศาล เป็นพี่สาวแท้ ๆ ของพระยาเทพปรีดา และพระยาจินดารักษ์ แต่คุณหญิงถนอมมิได้เล่นดนตรี
พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาลมีบุตรเกิดด้วยคุณหญิงถนอม ๔ คน คือ ศาสตราจารย์คุณนวลนาฎ อมาตยกุล แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.มนู อมาตยกุล เป็นข้าราชการบำนาญ กระทรวงการต่างประเทศ คุณถนอมหวัง อมาตยกุล และคุณยังสวัสดิ์ อมาตยกุล ยังมีบุตรชายคนสุดท้องเกิดแก่ภรรยาชื่อ แม้น อีกคนหนึ่งคือ พลเอกประสาร อมาตยกุล แห่งกองทัพบกไทย บุตรทุกคนมิได้เล่นดนตรี เพราะบิดามารดาส่งเสริมให้เรียนหนังสืออย่างจริงจังทุกคน
ศาสตราจารย์ คุณนวลนาฎ อมาตยกุล และ ดร.มนู อมาตยกุล เล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ ๗ นั้น พระยาภูมีเสวินได้มาต่อซอสามสายจากเจ้าคุณพ่อของท่านเป็นประจำ โดยเฉพาะทางเดี่ยวเพลงต่าง ๆ พระยาภูมีเสวินนั้น เคารพนับถือ และชื่นชมในฝีมือซอสามสายของพระยาอมาตยพงศ์ ฯ มาก จึงยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญซอสามสายคนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาภูมีเสวินนั้น อ่อนกว่าพระยาอมาตยพงศ์ ฯ ๑๑ ปี จึงเคารพนับถือกันมาก และได้เล่นดนตรีด้วยกันเสมอมา จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งหนีภัยสงครามอพยพแยกกันไป
นอกจาก พระยาภูมีเสวินแล้ว ยังมีญาติฝ่ายภรรยาอีกท่านหนึ่งคือ พระยาอนุชิต ฯ (บิดาของคุณหญิงนันทกา สุประภาตนันท์) ได้มาต่อเพลงขับร้อง และร่วมขับร้องโดยท่านเจ้าคุณเป็นผู้สีซอสามสายเสมอ ๆ ส่วนศิษย์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งของเจ้าคุณ ฯ คือ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล บุตรชายคนเดียวของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล และโดยที่บิดาของนายเทวาประสิทธิ์เป็นเพื่อนกับท่านเจ้าคุณมาแต่ยังรุ่นหนุ่มด้วยกัน นายเทวาประสิทธิ์จึงได้ต่อทางซอสามสายไว้ได้มากกว่าทุกคน ในกระบวนศิษย์ของท่านทุกคน
พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล เป็นคนมีเมตตากรุณา โอบอ้อมอารี พูดจาไพเราะ ท่านก็สงบเยือกเย็น ควบคุมอารมณ์และสติกำลังได้เป็นอย่างดี ได้ย้ายไปเช่าบ้านอยู่ในคลองบางกอกน้อยจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วจึงออกมาซื้อบ้านอยู่ใหม่ที่ทุ่งมหาเมฆ และยังเล่นดนตรีสีซอต่อมาจนเข้าสู่วัยชรา ท่านมีซอสามสายมรดกตกทอดมาจาก เจ้าจอมประคอง ในรัชกาลที่ ๕ ผู้เป็นคุณป้าของท่าน ซอคันนี้เป็นซออย่างดี ตกทอดมาจากพระยาธรรมสารนิติพิพิธภักดี (ตาด) บิดาของเจ้าจอมประคองอีกทอดหนึ่ง อันได้ชื่อว่าเป็นซอประจำตระกูลอมาตยกุล ปัจจุบันซอคันนี้ตกมาเป็นของ ศจ.ดร.มนู อมาตยกุล
พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล ป่วยด้วยโรครูมาติซั่ม ปวดข้อ และกระดูกเรื้อรัง เป็นเวลาหลายปี จนถึงเดินไม่ได้สะดวก ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ รวมอายุได้ ๖๙ ปี
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก การสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์คุณนวลนาฎ อมาตยกุล และศาสตราจารย์ ดร.มนู อมาตยกุล)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.