อาจ สุนทร
(ไม่ทราบปีที่เกิด-๒๔๙๕)
นายอาจ สุนทร เป็นบุตรของ นายรอก และนางผิว สุนทร เกิดในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านบิดาซึ่งอยู่ใกล้กับท่าช้างวังหน้า บิดาเป็นเจ้าของตลาดสดเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณถนนพระอาทิตย์ตอนที่ติดกับปากคลองหลอด บิดาเป็นเจ้าของวงดนตรีไทยที่เล่นกันในระหว่างพี่น้องเพื่อนฝูง นายอาจจึงมีพื้นดนตรีมาตั้งแต่ยังเยาว์ โดยหัดเล่นที่บ้าน ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) โดยไปต่อเพลงที่บ้านตรอกไข่จึงได้พบกับหม่อมส้มจีน ศิษย์นักร้องของพระยาประสานฯ นายอาจจึงได้ต่อเพลงร้องจากหม่อมส้มจีน จนมีความสามารถทั้งในการบรรเลงและขับร้อง
เมื่ออายุครบเกณฑ์ ได้รับราชการเป็นทหารและเนื่องจากมีความรู้ทางดนตรีดี จึงได้มาประจำอยู่ ณ กองดุริยางค์ กองทัพบก ได้เป็นศิษย์ของหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธิ์ ศรีชยา) ซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิของท่านจางวางทั่ว พาทยโกศล นายอาจจึงได้ใกล้ชิดกับบ้านท่านครูจางวางทั่ว เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว นายอาจจึงไปอยู่ที่บ้านท่านครูจางวางทั่ว ได้เป็นศิษย์รุ่นเดียวกับนายทรัพย์ เซ็นพาณิช นายยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ นายช่อ นายฉัตร สุนทรวาทิน รวมทั้งได้ต่อเพลงขับร้องเพิ่มเติมจากคุณแม่เจริญ พาทยโกศล ด้วย
นายอาจ เป็นคนมีความสามารถรอบตัวเล่นดนตรีไทยได้รอบวง รวมทั้งเป่าปี่ได้ดี เมื่ออยู่ทหารบก ก็เป็นคนเป่าปี่คลาริเน็ต หลวงประสานดุริยางค์ รักใคร่มาก เพราะเป่าปี่ทางดี ระบายลมได้คล่องเป็นที่ถูกใจมาก มีความรู้ความสามารถทั้งอ่านและเขียนได้คล่องแคล่วชำนาญ เวลามีงานดนตรีก็ช่วยอยู่ในวงปี่พาทย์พาทยโกศลเป็นประจำ
เมื่อขุนสมานประหาสกิจ (แคล้ว วัชโรบล) อัดแผ่นเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๖ นายอาจได้ไปช่วยบรรเลงเพลงโยธวาทิต และร่วมขับร้องเพลงอัดแผ่นเสียงด้วย โดยบันทึกเสียงกับบริษัทพาโลโฟน มีเพลงแขกยิงนก เพลงจีนโป้ยกังเหล็ง ร้องร่วมกับจ่าอิน อ๊อกกังวาล และนายสมบุญ (ไม่ทราบนามสกุล) นายอาจ ได้ร่วมอัดแผ่นเสียงกับท่านจางวางทั่วอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ที่ห้างสุธาดิลก โดยบริษัทพาโลโฟน เป็นผู้บันทึกเสียงเช่นเดียวกัน ครั้งนี้อัดโดยใช้วงดนตรีวังบางขุมพรหม เท่าที่ค้นพบมีตับนาคบาศทั้งตับ ร้องคู่กับจ่าอิน อ๊อกกังวาล จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นคนตีระนาดเอก ครูเทวาประสิทธิ์ เป่าปี่ ครูช่อ สุนทรวาทิน ตีฆ้องใหญ่ ครูฉัตร สุนทรวาทิน ตีระนาดทุ้ม นับเป็นแผ่นเสียงที่มีคุณค่ามาก
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว นายอาจได้ช่วยเหลือวงพาทยโกศลบรรเลงเพลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงพญาไทและศาลาแดง เป็นประจำ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงได้ย้ายออกจากบ้านครูเทวาประสิทธิ์ไป
นายอาจ มีนิสัยเป็นนักเลงเต็มตัว ชอบลองของ เป็นคนมีวิชาอาคม ครั้งหนึ่งมีการทดลองคุณวิชาไสยศาสตร์กับท่านอาจารย์ทองแดง ซึ่งโอ้อวดว่ามีของดีเหนียวมาก โดยทดลองยิงด้วยปืนจะไม่ตาย นายอาจใช้ลูกกระสุนจริง จึงเกิดมีการล้มตายกันขึ้น ต้องเข้าไปรับโทษอยู่ในเรือนจำบางขวางหลายปี อาศัยความรู้ในด้านดนตรีตั้งวงขึ้นที่บางขวาง มีชื่อเสียงมาก และได้รับอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมบ้านได้เสมอรวมเวลาอยู่ในบางขวางราว ๘ ปี
เมื่อพ้นโทษแล้ว ครูช่อ ครูฉัตร สุนทรวาทิน ได้ชวนให้ไปอยู่อยุธยา ได้เป็นครูปี่พาทย์ให้แก่วงปี่พาทย์บ้านใหม่ ของนายสังเวียน เกิดผล ได้ปลูกฝังวิชาดนตรีอย่างจริงจัง โดยสอนกำนันสำราญ เกิดผล ให้เรียน อ่านเขียนโน้ตเพลงสากล และสอนวิชาให้จนมีความรู้แตกฉาน รวมทั้งได้นำโน้ตเพลงไทยจากบ้านท่านครูจางวางทั่ว ไปเผยแพร่เก็บเป็นสมบัติของบ้านดนตรีตระกูลเกิดผลมาจนทุกวันนี้
ชีวิตครอบครัว แต่งงานมีภรรยาชื่อ ชื่น เป็นอิสลาม มีบุตรีชื่อ เชิง และบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ชุม ไม่มีใครเล่นดนตรี นายอาจ เป็นคนพูดเก่ง มีเรื่องคุยได้มาก เวลาสอนไม่ใคร่ตามใจศิษย์แต่เคี่ยวเข็ญและดุว่าด้วยเสียงอันดัง ต่อเพลงตลอดทั้งวงไม่มีติดขัด จนถึงกระบวนร้องเพลงตับ เพลงเถา จัดว่าเป็นครูที่สามารถมากคนหนึ่ง
ราว พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๔๙๔ นายอาจ ได้เข้ามาสอนและปรับวงปี่พาทย์ที่บ้านวัดหญ้าไทร จังหวัดนนทบุรี ระยะนี้เริ่มป่วยด้วยโรคปอดและโรคหัวใจแต่ยังไปช่วยงานสอนดนตรีที่บ้านนายสังเวียน เกิดผล อยู่เสมอ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ป่วยหนักถึงแก่กรรมที่จังหวัดนนทบุรี คาดว่าถึงแก่กรรมอายุ ระหว่าง ๕๐-๕๕ ปี
นายสังเวียน เกิดผล เล่าว่า มีความเสียดายในมรณกรรมของนายอาจมาก เพราะถือว่าเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาดนตรีคนสำคัญของตระกูลเกิดผลคู่มากับครูช่อ ครูฉัตร สุนทรวาทิน ศพของนายอาจ ได้ฌาปนกิจที่วัดพระพิเรนทร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕.
พูนพิศ อมาตยกุล
(เรียบเรียงจาก คำบอกเล่าของ คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ นายสังเวียน เกิดผล และนายพังพอน แตงสืบพันธุ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.