อินทร์หล่อ สรรพศรี
(พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๓๑)
ครูอินทร์หล่อ สรรพศรี เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ บิดาชื่อ มุ่ง มารดาชื่อ อุษา มีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน มีพี่ชายเป็นคนสีซอด้วง ๑ คน ชื่อ เจริญ
เริ่มเรียนหนังสือชั้นต้นที่โรงเรียนรัตนวิทยา จบประถมปีที่ ๑ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนสตรียุพราช โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและท้ายสุดจบประโยคครูประถมกสิกรรม จากโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม อำเภอทับกวาง ทางด้านดนตรีไทย เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ในระยะแรก ๆ ก็จำเอาจากพวกคณะลิเกและวงดนตรีในพระอุปถัมภ์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งออกบรรเลงในงานต่าง ๆ จนสามารถจำเพลงได้หลายเพลง บิดามารดาเห็นว่ามีความสนใจด้านดนตรี จึงจ้างครูมาสอนให้ที่บ้านครูอินทร์หล่อ จึงเริ่มเรียนขลุ่ยจากครูกลิ้ง นักดนตรีจากคุ้มเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยครูกลิ้งสอนด้วยซอด้วง สามารถเป่าขลุ่ยได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเพลง อาทิ เขมรราชบุรี เชิดจีน ทยอยนอก สี่บท บุหลัน เป็นต้น ต่อมาได้มีโอกาสเป็นศิษย์ต่อขลุ่ยจากหลวงสนธิวิชากร และครูช่อ สุนทรวาทิน ต่อซอด้วงจากครูจำลอง ใจสว่าง และท้ายสุดได้ต่อขลุ่ยจาก เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ โดยเจ้าบัวชุม ดีดจะเข้ ต่อเพลงให้ จากนั้นครูอินทร์หล่อได้พยายามฝึกฝนอยู่เสมอจนมีความสามารถบรรเลงเครื่องสายได้ทุกเครื่อง ที่ถนัดมาก ได้แก่ ขลุ่ย ขิม ซอด้วง และซออู้ ได้รับมอบให้ทำพิธีไหว้ครูจาก ครูช่อ สุนทรวาทิน ด้วย
นอกจากความสามารถในการบรรเลงเครื่องสายแล้ว ยังมีความสามารถในทางขับร้อง ตั้งแต่เพลงพื้นเมือง เพลงแหล่ ขับเสภา และเพลงเถาต่าง ๆ อีกมาก เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดขับร้องเพลงพื้นเมือง ของจังหวัดเชียงใหม่ ผลงานทางด้านการดนตรีที่ครูอินทร์หล่อได้สร้างไว้ ได้แก่ เพลงโยนก ประกอบการแสดง ระบำโยนก ๑ เพลง เขียนบทความเกี่ยวกับดนตรีไทยลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น บรรยายดนตรีไทยทางสถานีวิทยุในจังหวัดเชียงราย ๓ สถานี คือ ว.ป.ถ.๑๐ ป.ช.ส. และสถานีวิทยุทหารอากาศ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งแขกบ้านแขกเมืองที่สำคัญทุกครั้งที่เสด็จและมาเยือนจังหวัดเชียงรายในด้านการจัดดนตรีและการฟ้อนรำ
ประวัติการทำงานของครูอินทร์หล่อ เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เข้ารับราชการเป็นครูสอนดนตรีไทยที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แล้วย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนราษฎร์ในอำเภอสันกำแพง อำเภอสันป่าตอง อำเภอฝาง และอำเภอแม่สาย ตามลำดับ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
ด้านชีวิตครอบครัว สมรสครั้งแรกกับ นางจันทร์หอม ต่อมาสมรสใหม่กับนางพลอยสี มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน คือ นายพรหมมินทร์ นายพรหมาสตร์ นายพรหมเมศวร์ และน.ส.เทพินทร์ ทุกคนมีความสามารถในการบรรเลงดนตรีไทย พ.ศ. ๒๕๓๑ ครูอินทร์หล่อได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ซึ่งให้ข้อมูลโดย ครูอินทร์หล่อ สรรพศรี)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.