สุวิทย์ บวรวัฒนา
(พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๔๒)
ครูสุวิทย์ บวรวัฒนา เป็นบุตรของ ขุนบวรนายก ผู้เป็นต้นตระกูล “วัฒนา” และนางง้อ เกิดที่จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ มีน้องชาย ๑ คน ชื่อ อุดม มีน้องสาว ๑ คน ชื่อ อมรา เป็นนักร้องเพลงไทย
เริ่มการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนวัดโสมนัส จบชั้นประถมแล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบและโรงเรียนอัสสัมชัญ ตามลำดับ จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ วิทยาลัยพาณิชยการ เมืองมาเชลส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อศึกษาจบกลับมาแล้วได้เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ประจำกองการค้า จนได้ตำแหน่งอธิบดี กรมยุโรปและอเมริกา ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสเปนและสหภาพพม่า ไนจีเรีย ไลบีเรีย และไอเวอรี่โรสต์ จนครบเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓
การศึกษาและฝึกหัดในด้านดนตรีไทย เริ่มตั้งแต่อายุ ๖-๗ ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก คุณปู่หล่า ซึ่งเป็นน้องชายของคุณย่า และเป็นนักดนตรีไทย สีซอด้วงและเล่นออร์แกนไพเราะจับใจมาก มักจะตั้งวงบรรเลงกันที่บ้านเสมอ ครูสุวิทย์ จึงได้ร่วมวงด้วย โดยเป็นคนตีฉิ่ง ต่อมา คุณลิ้นจี่ ชยากร ผู้เป็นป้า เห็นว่า ครูสุวิทย์ มีความสนใจในดนตรีไทยอย่างจริงจัง จึงได้เชิญครูผิว ซึ่งเป็นครูสอนดนตรีไทยอยู่ที่สามัคยาจารย์สมาคมขณะนั้นมาสอนซอด้วงให้ที่บ้าน เป็นการเริ่มเรียนดนตรีไทยอย่างจริงจังของครูสุวิทย์ เพลงแรกที่หัดคือ เพลงจระเข้หางยาว ต่อมาเป็นเพลงแป๊ะ สามชั้น นางครวญ สามชั้น โหมโรงไอยเรศ สามชั้น พม่าห้าท่อน สามชั้น และพม่าเห่ สองชั้น ตามลำดับ จนมีความสามารถร่วมวงบรรเลงกับครูผิวในงานต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ยังเล็ก
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้ริเริ่มการใช้ขิมซึ่งเป็นเครื่องดนตรีจีนมาบรรเลงเพลงไทย เกิดเป็นวงเครื่องสายผสมขิม ครูสุวิทย์ก็หัดตีขิมจากครูจีนชื่อ นายเปงกี่ ซึ่งเป็นลูกจ้างของบิดา เมื่อตีเป็นเพลงได้ จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูพร้อม (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นหลานพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้มีโอกาสรู้จักกับครูพุฒ นันทพล ศิษย์รุ่นพี่ซึ่งต่อมาเป็นผู้ถ่ายทอดเพลงเดี่ยวขิมให้เพลงขิมที่ต่อจากครูพร้อม เพลงแรกคือ เพลงเขมรพวงเถา และได้รับครอบครูดนตรีไทยจากพระยาประสานฯ ในงานไหว้ครูที่บ้านของครูพร้อม ซึ่งครูสุวิทย์เล่าว่า “เป็นพิธีการไหว้ครูครั้งแรกที่ได้พบเห็นและรู้สึกเลื่อมใสในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย สิ่งที่สำคัญก็คือ ก่อให้เกิดกำลังใจให้พากเพียรเรียนวิชาหาความรู้จริงจังขึ้น”
ถึงสมัยภาพยนตร์เงียบ ซึ่งโรงภาพยนตร์แต่ละโรงจะต้องมีวงดนตรีบรรเลงประกอบ ครูพร้อมเห็นว่าออร์แกนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีตะวันตกสามารถนำมาบรรเลงเข้ากันได้กับเสียงเครื่องดนตรีไทย จึงได้นำเข้ามาผสมเป็นวงเครื่องสายผสม รับงานบรรเลงอยู่ตามโรงภาพยนตร์ ใช้ชื่อวงว่าวงนายโนรี มีครูพร้อม ดีดออร์แกน ครูพุฒ นันทพล ตีขิม ครูเจือ เสนีย์วงศ์ สีซออู้ ครูบุญส่ง สีซอไวโอลิน ครูย้อย เกิดมงคล เป่าขลุ่ย เป็นต้น เป็นวงที่ได้รับความนิยมมาก ขณะนั้นครูสุวิทย์ยังเด็กจนต่อมาเมื่อจบการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศษแล้วจึงได้ฝึกหัดดีดออร์แกนจากครูเจือ เสนีย์วงศ์ หัวหน้าวงดนตรีคณะเตชนะเสนีย์ จนมีความชำนาญยิ่ง เมื่อครูเจือ ถึงแก่กรรมลง ครูสุวิทย์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมวงเตชนะเสนีย์สืบต่อมา วงดนตรีวงนี้เป็นวงดนตรีไทยวงแรกที่ได้บรรเลงในรายการวิทยุของบริษัทไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการและสถานีวิทยุ อ.ส. ในระยะแรก ๆ จนถึงช่วงเวลาที่ครูสุวิทย์ต้องไปรับราชการอยู่ต่างประเทศผู้ควบคุมวงดนตรีต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจากคณะเตชนะเสนีย์เป็น คณะวัชรบรรเลง และใช้ชื่อนี้มาจนทุกวันนี้
นอกจากจะเรียนซอด้วง ขิม และออร์แกนแล้ว ครูสุวิทย์ ยังได้มีโอกาสฝึกหัดซออู้ จากหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และเรียนซอสามสายจาก ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล อีกด้วย
ผลงานทางด้านการประพันธ์เพลงไทย มีอยู่หลายเพลง คือ เพลงยโสธรเถา องเชียงสือเถา (จากเพลงทยอยญวน สองชั้น) สาวสวยรวยเถา (จากสองชั้นของเดิม) พญาสี่เสาเถา (จากสองชั้นของเดิม) สาวสุดสวยเถา (จากเพลงเขมรทุบมะพร้าว สองชั้น) มะลิซ้อนเถา จินตะหราวาตีเถา (จากเพลงจุ๊บแจง สองชั้น) น้ำลอดใต้ทรายเถา และแขกพราหมณ์ทางเปลี่ยน
ครูสุวิทย์ มีภรรยาชื่อ วิจิตรา มีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คน บุตรชายคนโตชื่อ พิชิต มีความสามารถในการแต่งเพลง แต่นิยมแต่งทางสากลมากกว่า ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๖) ท่านพักอยู่บ้านเลขที่ ๖๓๔ ซอยศรีย่าน ๑ ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ
ครูสุวิทย์ใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่กับการเล่นและสอนดนตรีไทยตลอด 30 ปี โดยร่วมกิจกรรมดนตรีกับ คณะหนุ่มน้อย (ในการควบคุมของพระยามไหสวรรย์) วงอาสากาชาด และวงธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น อีกทั้งยังมีลูกศิษย์มาเรียนดนตรีไทยที่บ้านอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการในประกวดดนตรีไทยหลายรายการ จนกระทั่ง วันเสาร์ที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๒ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี ๒ เดือน ๒๔ วัน
จรวยพร สุเนตรวรกุล
(เรียบเรียงจาก หนังสือ เบื้องหลังเพลงดัง รวมข้อเขียนของ ๔๐ นักเพลง โดย วราห์ วรเวช และคำบอกเล่าเพิ่มเติมของ รองศาสตราจารย์นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.
และ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสุวิทย์ บวรวัฒนา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม. (๒๕๔๒). กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์.