จันทร์ โตวิสุทธิ์ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๔๓)

จันทร์ โตวิสุทธิ์ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๔๓)

จันทร์ โตวิสุทธิ์

(พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๔๓)

 

ครูจันทร์ เป็นบุตรของนายฮวด และนางศรี โตวิสุทธิ์ เกิดที่บ้านถนนบริพัตร ตำบลสำราญราษฎร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประถมวัดสุทัศน์เทพวราราม จนจบชั้นประถมปีที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบจนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง ๑๕ ปี เป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาก พ.ศ. ๒๔๗๐ เข้ารับราชการในฝ่ายการบัญชี กรมรถไฟ เรื่อยมาจนเกษียณอายุ

ครูจันทร์เป็นคนรักดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของครูจี๊ด มาลัยแมน โดยเรียนขลุ่ยและเรียนขับร้อง ต่อมาได้เรียนซอด้วง ซออู้ และโทนรำมะนา จากครูโปรย (จำนามสกุลไม่ได้) แล้วไปเรียนหน้าทับกลองต่าง ๆ ต่อกับครูทิณ ทวีศรี ท้ายที่สุดได้เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ต่อทั้งทางเครื่องและทางร้อง ครูจันทร์ชำนาญทางเครื่องสายมาก สามารถสีซอได้ทุกประเภทจนถึงไวโอลิน สามารถเป่าขลุ่ย ตีขิม จะเข้ และเล่นเครื่องหนัง มีความรู้ในเพลงการและแต่งเพลงได้ดี

ครูจันทร์มีผลงานทางด้านการสอน การแสดง และการแต่งเพลงมาก เคยสอนอยู่ที่วิทยาลัยครูสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงเรียนดรุณศึกษา (หาดใหญ่) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนบูรณะศึกษา ส่วนมากชอบสอนเครื่องสายและมโหรี และเป็นหัวหน้าวงเครื่องสายของกรมรถไฟด้วย ผลงานทางด้านการแต่งเพลง ได้แก่ โหมโรงเริงรามัญ โหมโรงศรีนพวงศ์ ลงสรงลาว ผกากาญจน์เถา ขอมระทมเถา ชมดงเหนือ สุดาภิรมย์ เขมรสุดใจ ฝรั่งกลาย ทักษิณราชนิเวศน์ สวนกุหลาบรำลึก และชนะการแต่งเพลงประกวดชื่อ “เพลงสุดสายใจเถา” ได้รับรางวัลพิณทอง กับเงินสด ๑๐๐,๐๐๐ บาท จากธนาคารกสิกรไทย เมื่อ ปี พ.ศ ๒๕๒๔

ครูจันทร์มีภรรยาชื่อ เย็นใจ แต่งงานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕  มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ชื่อ สุรภี จิราวุธ พรพรรณ และพิสิษฐ์ บุตรชายคนสุดท้องเป็นนักดนตรี

ในชีวิตของครูจันทร์ เล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกเพราะมีงานประจำเป็นนักบัญชีอยู่แล้ว โดยที่เคยร่วมวงอัดแผ่นเสียงกับบริษัทพาโลโฟนที่ห้างยอนแซมสัน ผ่านฟ้า ครั้งนั้นมีนางเล็ก ศุขโสต เป็นคนร้อง ต่อมาได้ตั้งวงเครื่องสายร่วมกับ นายแพทย์ประสพ วรมิศร์ นายแพทย์พึ่ง พินธุโยธิน นายเพื่อน ชุ่มกมล ให้ชื่อว่า “วงดุริยบรรเลง” ออกอากาศมาตั้งแต่ครั้งสถานีวิทยุวังพญาไท เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวงดนตรีของสโมสรรถไฟ และเป็นหัวหน้าวงดนตรีคณะศศิธร นำวงบรรเลงออกอากาศอยู่เป็นประจำ

ครูจันทร์รักดนตรีไทยด้วยน้ำใสใจจริงส่งเสริมเด็กหนุ่มสาวให้เรียนดนตรีไทย ตั้งใจสอนเป็นอย่างดี รวมทั้งยังแต่งเพลงอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๓ ครูจันทร์ได้ถึงแก่กรรมลง สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก บันทึกประวัติศิลปินเพลงไทย ซึ่งบันทึกโดย ครูจันทร์ โตวิสุทธิ์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.