เรืออากาศเอก โองการ กลีบชื่น (พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๒๐)

เรืออากาศเอก โองการ กลีบชื่น (พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๒๐)

เรืออากาศเอก โองการ กลีบชื่น

(พ.ศ. ๒๔๕๕-๒๕๒๐)

 

เรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น มีนามเดิมว่า ทองต่อ เป็นบุตรของนายขำและนางทองอยู่ ซึ่งเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ประจำอยู่วัดพระพิเรนทร์ และวัดอนงคาราม ครูโองการ จึงมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็ก โดยมีบิดาเป็นผู้ฝึกสอนให้ เมื่ออายุได้ ๖ ปี  ได้เรียนปี่พาทย์กับครูปริก โตสง่า อายุได้ ๘ ปี ได้ต่อเพลงกับครูเจริญ และเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย จนกระทั่งกรมขุนเพชรบูรณ์ฯ สิ้นพระชนม์ จึงได้ไปเรียนดนตรีต่อจากครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเป็นเลิศในทางปี่พาทย์ ได้แสดงความสามารถจนเป็นที่พอใจของครูหลวงประดิษฐฯ มาก ครูโองการ เป็นศิษย์ก้นกุฏิของท่านครูหลวงประดิษฐ์ฯ คนหนึ่ง

ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เข้ารับราชการในกองปี่พาทย์และโขนหลวง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ ก็ลาออกไปถวายตัวอยู่กับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ที่วังบางคอแหลม เป็นนักดนตรีประจำวงวังบางคอแหลม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงวิจิตรวาทการ ได้เปิดโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้น คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ได้นำครูโองการเข้าไปเป็นครูสอนวิชาปี่พาทย์ที่โรงเรียนนี้ด้วย โรงเรียนนี้คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นั้นเอง ครูโองการ ก็ได้เป็นผู้ควบคุมวงดนตรีไทยร่วมในคณะนาฏศิลป์ เป็นทูตสันถวไมตรี ไปประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเป็นเวลานาน ๔ เดือน เนื่องจากครูเป็นผู้มีความรู้ในภาษาญี่ปุ่นถึงขั้นทำหน้าที่เป็นล่ามได้

ครูได้เปลี่ยนชื่อจากทองต่อ มาเป็น โองการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้เปลี่ยนให้ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๐ สอบชั้นตรีได้และเริ่มเรียนโน้ตสากลจนอ่านเขียนได้คล่อง ในสมัยนั้นเพลงชาติของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องใช้บรรเลงในงานรับรองชาวต่างประเทศ ครูโองการจะเป็นผู้อ่านโน้ตให้แก่วงดนตรี เมื่อครูสอบชั้นโทได้ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้ดำรังตำแหน่งหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงโอนมารับราชการ ณ กองดุริยางค์ทหารอากาศ และได้รับพระราชทานยศเป็นเรืออากาศเอก เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับราชการเป็นทหารอากาศอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ ก็ลาออกรับบำนาญ แต่กองดุริยางค์ทหารอากาศก็ยังเชิญให้ครูไปทำการสอนพิเศษให้แก่วงดนตรีไทยของทหารอากาศอยู่

ครูโองการ เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สมัยเมื่อยังเป็นเด็กได้รับเลือกเข้าเป็นผู้บรรเลงฆ้องเล็ก วงวังบูรพา โดยมีครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้คุมวง ประชันกับวงวังบางขุนพรหม ซึ่งมีครูจางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผู้คุมวง และวงเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ซึ่งมีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นผู้คุมวง ปรากฏว่า ครูโองการ ได้รับรางวัลที่ ๒ ในการตีฆ้องเล็ก ครูโองการ ได้รับเกียรติสูงสุดจากครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถ่ายทอดวิชาให้สืบทอดการทำพิธีอ่านโองการไหว้ครู และครอบดนตรีไทยให้กับนักดนตรีรุ่นต่อ ๆ ไปได้ จึงได้รับเชิญให้เป็นผู้ประกอบพิธีอ่านโองการไว้ครูตามสถาบันต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตรและบางแสน วิทยาลัยครูสวนดุสิต โรงเรียนยุพราช จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น รวมทั้งได้รับเชิญให้เป็นผู้ประกอบพิธีอ่านโองการไหว้ครูตามบ้านของศิษย์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่เสมอ จนถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ จึงได้ทำพิธีมอบหมายการอ่านโองการไหว้ครูให้แก่นายพักตร์ โตสง่า และนายสุพจน์ โตสง่า ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญ

ผลงานทางด้านการแต่งเพลง มีอาทิ เพลงขอมกล่อมลูกเถา คู่มอญรำดาบเถา เพลงพญาสี่เสาเถา เพลงพระจันทร์ครึ่งซีกเถา ฯลฯ และได้แต่งทางร้องเพลงพม่าห้าท่อน ๖ ชั้น เพลงธรณีกรรแสงเถา พระอาทิตย์ชิงดวงเถา ทองย่อนเถาเนื้อเต็ม ฯลฯ

ครูโองการ ไม่เพียงแต่จะสอนดนตรีไทยตามสถาบันที่ท่านทำงานอยู่เท่านั้น ยังได้รับเชิญไปสอนตามสถาบันต่าง ๆ อาทิ วิทยาลัยโชติเวช โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย โรงเรียนวัดชัยชนะสงคราม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสมถวิล โรงเรียนสายปัญญา สโมสรธนาคารกรุงเทพ และเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างเครื่องดนตรีไทยของร้านดุริยบรรณ ท่านมีลูกศิษย์มากจนสุดที่จะนับได้ถ้วน เท่าที่พอจะกล่าวนามได้ ได้แก่ นายฉลาด เค้ามูลคดี นายจิรัส อาจณรงค์ นายพักตร์และนายสุพจน์ โตสง่า นายลำยอง โสวัตร ซึ่งนายลำยองนี้ได้รับการต่อเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงให้เป็นคนสุดท้าย นางประชิต ขำประเสริฐ ได้รับการต่อเพลงทางร้องที่ครูโองการแต่งไว้แต่เพียงผู้เดียว

ชีวิตครอบครัวของท่านนั้น แต่งงานครั้งแรก มีบุตร ๒ คน ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวเพลินพิศ พลางกูร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน กำลังอยู่ในวัยเรียนและเริ่มหัดดนตรี

ครูโองการถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่โรงพยาบาลวชิระ รวมอายุได้ ๖๕ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ศ. ๒๕๒๑)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.