จันทนา พิจิตรคุรุการ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๒๔)

จันทนา พิจิตรคุรุการ (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๒๔)

จันทนา พิจิตรคุรุการ

(พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๒๔)

 

นางจันทนา พิจิตรคุรุการ สกุลเดิม ดวงศรี เกิดเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายหมาย ดวงศรี มารดาชื่อ นางบุญอ้อม ดวงศรี มีพี่สาว ๒ คน คือนางบุญโฮม ชูโต และนางทองคำ กรีธาพล

การศึกษาขั้นต้นได้เข้าเรียนโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดอุบล “นารีนุกูล” และโรงเรียนชายประจำจังหวัดอุบล “เบ็ญจะมะมหาราช” และระหว่างที่เรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ได้เรียนมัธยมปีที่ ๕ เป็นเวลาสามเดือนครึ่งได้รับทุนเล่าเรียนหลวง เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย เป็นนักเรียนฝึกหัดครูประถมประเภทในบำรุง ได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ จากนั้นศึกษาด้วยตนเอง และสมัครสอบเลื่อนชั้นตามวุฒิครูโดยลำดับ ได้ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับการอบรมพิเศษวิชาการเรือนเป็นเวลาหนึ่งปีที่โรงเรียนการเรือน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ เข้ารับการอบรมครูวิทยาศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ และศึกษาภาษาอังกฤษที่สถานสอนภาษา เอ.ยู.เอ. ได้ประกาศนียบัตรครบ ๙ เทอม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑

นางจันทนา รับราชการครูตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ รวมอายุราชการ ๔๔ ปีเศษ

ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับขุนพิจิตรคุรุการ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการประจำจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ และได้ครองชีวิตด้วยความอุตสาหะ บากบั่น และอดทนจนกระทั่งขุนพิจิตรคุรุการได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอด เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ณ โรงพยาบาลทรวงอก นนทบุรี ในระหว่างนั้นนางจันทนาเริ่มสุขภาพไม่สู้ดี มีอาการไอและเลือดออก ได้เป็นคนไข้ของนายแพทย์เวทย์ อารีย์ชน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทรวงอกตลอดมา จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้พบว่ามีมะเร็งที่ปอด จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ต่อมานางจันทนาปรารถนาจะรักษาตัวอยู่ที่บ้านเลขที่ ๖๕ พิบูลวัฒนา ด้วยประสงค์จะอยู่พร้อมหน้าลูกหลาน และได้ถึงแก่กรรมโดยสงบ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ท่ามกลางความอาลัยรักของบุตร-ธิดาและหลาน ๆ

นางจันทนามีบุตร-ธิดา ๔ คน คือนางสุภัทร สวัสดิรักษ์ ร.อ.พจน์ พิจิตรคุรุการ นางสภางค์ ชูโต และนางสุรพงษ์ พิจิตรคุรุการ

นางจันทนาสนใจการขับร้องเพลงไทยได้สมัครเป็นศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มีความรู้พิเศษเรื่องการขับร้องเพลงไทย เป็นผู้ริเริ่มตั้งวงดนตรีไทย (เครื่องสายไทย) ของโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ และคุรุสภาแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการให้สอนขับร้องเพลงไทยแก่สมาชิกคุรุสภา นอกเวลาราชการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๑๖

ได้ประพันธ์บทร้องเพลงไทยให้ครบลักษณะเพลงเถา ให้ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะหลายเพลง บางเพลงนักร้องไทยยังใช้นำมาร้องอยู่กระทั่งปัจจุบัน และเป็นนักร้องสมัครเล่นเพลงไทยของชุมนุมดนตรีไทยของคุรุสภา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ ปัจจุบันยังมีศิษย์ติดตามขอต่อร้องเพลงไทยเป็นครั้งคราว จนกระทั่งล้มป่วยไม่สามารถร้องเพลงได้

ผลงานประพันธ์เพลงไทยของนางจันทนา พิจิตรคุรุการ มีทั้งประพันธ์บทร้อง และประพันธ์ทางร้อง ทั้งเพลงจนจบและบางท่อน โดยใช้บทของเก่าบ้าง แต่งร่วมกับผู้อื่นบ้าง เมื่อรวมผลงานทั้งหมดแล้วมีประมาณ ๒๐๐ เพลง ขอยกตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่ง ได้แก่ สิงโตเล่นหาง จีนแส (ภิรมย์สุรางค์) ระส่ำระสาย จีนอนงค์สุชาดา (๕ จังหวะ) กระเรียนร่อน เพลงช้าหรือเต่าเห่ เขมรเลียบพระนคร ล่องเรือ แมลงภู่ทอง สาวสอดแหวน เทพบรรทม ฯลฯ

นางจันทนา พิจิตรคุรุการ เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการขับร้อง และมีความสนใจเรียนรู้เพลงไทยอย่างแท้จริง เป็นทั้งศิษย์และครูที่ดี จะเห็นได้จากคำไว้อาลัยของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลงที่ว่า

“…ดิฉันคิดว่าเป็นเพราะว่าครูท่านบันดาล และเป็นบุญของวงดนตรีของเราที่จะได้คนร้องดีและมีโอกาสบรรเลงเพลงแปลก ๆ มากขึ้น จึงได้พบกับคุณจันทร์ เมื่อคุณพ่อไปสอนที่คุรุสภา คุณจันทร์ก็ตามไปเรียน จนเมื่อคุณพ่อสิ้นชีวิตแล้วดิฉันสอนแทนท่าน คุณจันทร์ก็เลยยอมเป็นศิษย์ดิฉันต่อไป เพลงบางเพลงที่คุณพ่อสอนไว้แต่ยังไม่ได้ทำทางร้อง ดิฉันก็เป็นผู้ทำ คุณจันทร์ก็ช่วยจำจดโน้ตไว้ บางเพลงดิฉันคิดทำทางร้อง แล้วนานเข้าลืมเลือนไปก็ต้องทบทวนถามจากคุณจันทร์ เมื่อดิฉันคิดจะเลิกสอนคุรุสภา แต่ยังมีเพลงอีกหลายเพลงดิฉันก็ให้คุณจันทร์เป็นผู้สอนแทนต่อไป ได้แนะให้ศึกษาวิธีการที่จะทำเพลงร้องจากเครื่องดนตรี ได้เปรียบเทียบให้ฟังว่า ถ้าดนตรีบรรเลงอย่างนี้ ร้องควรจะดัดแปลงอย่างไร และจะเกลาแก้ไขอย่างไรจึงจะเหมาะสม โดยนำเพลงของคุณพ่อเป็นหลัก คุณจันทร์พอจะสีซอได้ก็เข้าใจได้ดี และสามารถนำทางร้องเพลงที่ไม่เคยได้ไว้จากเพลงที่ คุณลาภ มณีลดา หัวหน้าวงคุรุสภาไปหามาให้ได้ โดยไม่ต้องวิ่งไปหาครูอย่างบางคนที่ต้องวิ่งไปหาครูอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้คุณจันทร์ยังแต่งเนื้อร้องไว้ก็หลายเพลง โน้ตที่คุณจันทร์ทำขึ้นเพื่อช่วยความจำนั้นได้เขียนไว้อย่างสวยงาม คุณจันทร์เป็นศิษย์ที่ประเสริฐไม่เคยลืมเพลงของคุณพ่อ ไม่บิดเบือนเพลงของคุณพ่อให้ผิดเพี้ยนไป…”

 

วชิราภรณ์ วรรณดี

(เรียบเรียงจากหนังสือ “เพลงไทยสมัยรัตนโกสินทร์” พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลงศพ อาจารย์จันทนา พิจิตรคุรุการ ณ เมรุวัดตรีทศเทพ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๕)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.