คุณหญิงไพฑูรย์ (พาทยโกศล) กิตติวรรณ
(พ.ศ.๒๔๕๔-๒๕๓๘)
นักดนตรีหญิงคนแรกในวงการดนตรีไทย ที่ได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือ คุณหญิงไพฑรูย์ กิตติวรรณ
คุณหญิงไพฑรูย์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นบุตรีของจางวางทั่ว และนางปลั่ง พาทยโกศล มีพี่ชายคนเดียว คือ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ท่านครูจางวางทั่ว ผู้เป็นบิดาเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้สืบทอดศิลปะการดนตรีมาจากบรรพบุรุษและได้ถ่ายทอดสืบต่อมาให้บรรดาบุตรหลาน และศิษย์อื่น ๆ อีกมาก บุคคลที่มีความสำคัญในชีวิตของคุณหญิงไพฑรูย์อีกท่านหนึ่งคือ คุณแม่เจริญ พาทยโกศล หรือที่เรียกกันติดปากว่า หม่อมเจริญ ภรรยาของท่านครูจางวางทั่ว เพราะนอกจากจะได้เลี้ยงดู อบรม วิชาการบ้านการเรือนให้แล้ว ยังได้ถ่ายทอดวิชาร้องเพลงให้อีกด้วย
เมื่อสมัยยังเด็ก คุณหญิงไพฑูรย์ไม่ใคร่ชอบเรียนดนตรี แต่ชอบออกไปเล่นซุกซนจึงมักถูกท่านครูจางวางทั่วและคุณแม่เจริญทำโทษเนือง ๆ และถูกบังคับให้หัดดนตรี ผลจากการบังคับกันครั้งนั้น ทำให้ท่านมีฝีมือทางดนตรีและการขับร้องมาจนทุกวันนี้ ท่านเล่นดนตรีได้เกือบรอบวง (ยกเว้นปี่) ส่วนเครื่องสายนั้นก็เล่นได้ ครูช่อ สุนทรวาทิน เป็นผู้จับมือต่อจะเข้ให้ นอกจากนั้นยังได้ต่อทางเดี่ยวจะเข้จากท่านบิดาไว้มากพอสมควร
เมื่อเติบโตขึ้น ท่านได้ติดตามบิดาและคุณแม่เจริญไปในการบรรเลงดนตรีตามที่ต่าง ๆ และได้เข้าไปในวังบางขุนพรหมเสมอ ๆ จนได้สนิทสนมกับเจ้านายและบุคคลในวังนั้นจนถึงได้เคยร่วมบรรเลงดนตรี กับเจ้านาย และพระธิดา ในสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในคราวฉลอง และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ยังได้ต่อเพลงพระราชนิพนธ์ประทานให้เสมอ ๆ
ในคราวที่ท่านครูจางวางทั่ว นำวงปี่พาทย์ไปบันทึกเสียงในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ และในปีต่อ ๆ มา คุณหญิงไพฑูรย์ก็ได้เป็นนักร้องบันทึกเสียงไว้มาก ใช้ชื่อบนแผ่นเสียงในครั้งนั้นว่า นางสาวทูน พาทยโกศล
งานทางด้านการสอน คุณหญิงไพฑรูย์ก็ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีอย่างจริงจัง ให้กับนักดนตรี นักเรียน นักศึกษาหลายแห่งเป็นเวลา ๓๐-๔๐ ปี มาแล้ว แรกเริ่มคือไปหัดดนตรีให้วงบางบัวทอง ของคุณประสาท สุขุม ต่อมาไปสอนที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง โรงเรียนราชินี วิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงบ้านปลายเนิน (วังคลองเตย) ฯลฯ ระยะหลัง ๆ ท่านก็ขอลดเหลือเพียงโรงเรียนสตรีวิทยา วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และวิทยาลัยพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท่านั้น
คุณหญิงไพฑูรย์ นิยมการต่อเพลงอย่างโบราณ คือ ต่อให้ท่องจำ ท่านเป็นครูที่เข้มงวดเอาจริงเอาจัง หวังจะให้ศิษย์ได้ดี จึงดูเหมือนว่าท่านดุ โดยที่ท่านมักจะมองด้วยสายตาแข็ง ๆ และใช้เสียงดัง อย่างไรก็ตาม ท่านเป็นคนมีอารมณ์ขันเสมอ
ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ คุณหญิงได้เข้าไปถวายสอนซอด้วงและซออู้แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ ระยะเวลาใกล้เคียงกับที่คุณครูเทวาประสิทธิ์ได้ถวายสอนซอสามสายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ครั้น พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าชั้นที่ ๔ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าชั้นที่ ๓ อันเป็นสิ่งที่ท่านปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ในการบันทึกประวัติ พ.ศ. ๒๕๒๕ แม้ท่านจะมีอายุ ๗๐ ปี แล้วและมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนบ้างเป็นครั้งคราว แต่ท่านยังแข็งแรงและสู้งานเสมอ ท่านได้ประดิษฐ์ทางร้อง “เพลงวา” ไว้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ในโอกาสฉลองครบรอบร้อยปี สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต คุณหญิงได้รับพระราชบัญชาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นแม่กองในการดำเนินการบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์ ฯ เพื่อเก็บไว้ที่ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตร ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ โดยมีนักร้องและผู้บรรเลงมาจากวงดนตรีหลายแห่ง ได้แก่ กองดุริยางค์กองทัพบก กองดุริยางค์กองทัพเรือ กองดุริยางค์กรมตำรวจ และวงพิณพาทย์พาทยโกศล และวงปี่พาทย์ของตระกูล เกิดผล จังหวัดอยุธยา งานดังกล่าวใช้เวลาประมาณ ๑ ปี นับตั้งแต่การฟื้นฟูเพลง การต่อเพลง การฝึกซ้อม การประสานงาน ตลอดจนการอัดเสียง ท่านทำอย่างแข็งขันจนสำเร็จเรียบร้อยอย่างดี
ต่อมาในโอกาสฉลองครบรอบร้อยปีของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล คุณหญิงก็ได้ทำงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือ ควบคุมการฝึกซ้อม และบรรเลงวงโยธวาทิตวงใหญ่จาก ๕ สถาบัน คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และกรมศิลปากร เพื่อประกอบการแสดงโขน วงโยธวาทิตนี้จัดขึ้นเป็นพิเศษ ประกอบด้วยนักร้องและนักดนตรีกว่า ๑๖๐ คน นับเป็นวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยรวบรวมมาบรรเลงในรอบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องจากผลงานทางด้านดนตรีไทยที่ท่านได้ทำตลอดมา สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้คัดเลือกท่านเป็นนักดนตรีไทยคนหนึ่งในจำนวน ๔ คน ที่ขึ้นรับพระราชทานโล่เกียรติคุณ สาขาดนตรีไทยเป็นครั้งแรกในงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และในปี ๒๕๓๐ ท่านได้รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๒๙ นับเป็นเกียรติประวัติสูงส่งในชีวิตของท่าน
ชีวิตส่วนตัวของคุณหญิงไพฑูรย์นั้น เรียบง่ายเป็นอย่างยิ่ง ท่านสมรสกับพันเอกปลั่ง กิตติวรรณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ และยังคงอยู่ที่บ้านเลขที่ ๘๙๐ หลังวัดกัลยาณมิตร บ้านเกิดของท่านนั่นเอง ท่านมีบุตรธิดา ๒ คน คือ นางอัปสรสำอางค์ แจ้งสมบูรณ์ และนายขวัญเมือง กิตติวรรณ
คุณหญิงไพฑูรย์ เป็นบุคคลที่มีกำลังใจเข้มแข็งเสมอ ยามใดที่ท่านไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของโรคกระเพาะอาหาร หรืออาการปวดแขนปวดขาอย่างรุนแรง ท่านก็มักจะตั้งใจถ่ายทอดวิชาให้แก่ลูกศิษย์อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งที่บ้าน และตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ แม้ว่าท่านมักจะพูดถ่อมตัวเสมอว่า ตัวท่านนั้นเป็นคนไม่มีฝีมือ ร้องเพลงก็ไม่เพราะ แต่ผลงานของท่านที่กล่าวมาแล้วคงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือท่านได้เป็นอย่างดี จึงนับได้ว่าคุณหญิงได้ใช้ชีวิตครูดนตรีอย่างมีคุณค่าตลอดมา คุณหญิงไพฑูรย์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘ สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี
อารดา กีระนันทน์
(เรียบเรียงจาก บทความของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล หนังสืองานดนตรีไทยมัธยมศึกษา ครั้งที่ ๗ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔)
ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ]. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.