ตอนที่ 42 เพลงคำนับของไทย ตอนที่ 42 เพลงคำนับของไทย ชื่อเพลง : เพลงสรรเสริญพระบารมี (บทร้องที่ 1) ผู้ประพันธ์คำร้อง : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ชื่อเพลง : เพลงสรรเสริญพระบารมี (บทร้องสำนวนสำหรับนักเรียนหญิงล้วน) ผู้ประพันธ์คำร้อง : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ชื่อเพลง : เพลงสรรเสริญพระบารมี (บทร้องสำนวนสำหรับนักเรียนชายหญิงขับร้องร่วมกัน) ผู้ขับร้อง : เพลงสรรเสริญพระบารมี (บทร้องสำนวนสำหรับทหาร) ผู้ประพันธ์คำร้อง : เด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ความยาว : 30.31 นาที รายละเอียด : เพลงไทยสากลที่ทำหน้าที่เฉพาะเกี่ยวกับการให้ความเคารพ หรือที่เรียกว่า “เพลงคำนับ” ของคนไทย แต่เดิมมาเมืองไทยไม่เคยมีเพลงเพื่อใช้บรรเลงเพื่อแสดงเกียรติยศหรือแสดงการคำนับ คือไ ไม่มีเพลงชาติ ไม่มีเพลงสรรเสริญพระบารมีมาก่อน ฝรั่งเป็นผู้ต้นคิดให้ไทยมีเพลงคำนับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 คือ กัปตันน๊อกซ์ และ กับตันอิมเปย์ นายทหารประเทศอังกฤษ ซึ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 และได้ช่วยฝึกหัดทหาร ได้นำแตรเป่าสำหรับการคำนับเข้ามาใช้ เป็นเพลงแตรสั้นๆ ที่เป้นแตรคำนับ หรือแตรสัญญาณต่างๆ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาที่่เสด็จออกไม่มีเพลงคำนับที่จะเป็นการถว่ายพระเกียรติยศ จึงขอยืมทำนองเพลง “God Save the Queen” มาให้ทหารเปล่าแสดงความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิ่่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ีงเป็นพระมหาอุปราชาแห่งวังหน้า เล่ากันว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จออก เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ก็จะบรรเลงเพลง 2 รอบ แต่ถ้าเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชา ก็บรรเลงเพลงเพียงครั้งเดียว เพลง “God Save the Queen” เป็นเพลงเก่าแก่ของประเทศอังกฤษ และเป็นเพลงที่สั้นมาก ใช้เวลาบรรเลงไม่ถึงครึ่งนาที ใช้เป็นเพลงเคารพของทหารในหลายๆ ชาติ ของทวีปยุโรป แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเริ่มต้นตั้งประเทศใหม่ๆ ก็ใช้ทำนองเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงชาติ และมาเปลี่ยนเป็นเพลงชาติในปัจจุบัน ทำนองเพลง “God Save the Queen” ประเทศไทยเรียกเพลงนี้ว่า “จอมราชจงเจริญ” ประพันธ์คำร้องเป็นโครงสี่สุภาพโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 ได้ร้องให้ประทานให้ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ฟัง และได้นำเพลงนี้มอบให้กับนักศึกษาปริญญาโท ทางด้านดนตรี รุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำขึ้นมาใหม่โดยยึดทำนองเพลง “God Save the Queen” และเอาเนื้อร้องใส่เข้าไป “เพลงจอมราชจงเจริญ” (แต่งใหม่) ซึ่ง่เป็นเสมือนเพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต้นรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อมา และในปี พ.ศ. 2416 ได้เสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และเมืองปัตตาเวีย (จากาต้า) ในประเทศอินโดนีเซียหรือชวา ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเสด็จถึงประเทศสิงคโปร์ มีการบรรเลงเพลง “God Save the Queen” รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงโปรดมาก เนื่องจากเล่นได้เพราะจับพระทัย และทรงคิดว่าเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย จะตั้ังแตรวงมหาดเล็ก ให้มีความสามารถเช่นเดียวกับของประเทศสิงคโปร์ และในขณะที่กำลังจะเสด็จข้ามช่องแคบมะละกาไปสู่เมืองปัตตาเวีย ทางประเทศเนเธอร์แลนด์ ถามว่า จะให้ใช้เพลงคำนับเพลงใด ทางประเทศไทยได้ตอบไปว่าเคยบรรเลงเพลงในทำนองเดียวกับเพลง “God Save the Queen” ได้มีผู้ท้วงติง (ฝรั่ง) ว่าเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษตั้งแต่เมื่อใด จึงใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษเป็นการถวายการคำนับ จึงเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยเลยที่ว่าให้หยุดใช้เพลงจอมราชจงเจริญในทำนองอังกฤษ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา เพราะเริ่มสำนึกว่าเพลงนั้นมีความหมายเกินกว่าที่จะฟังแบบไพเราะหรือการคำนับแบบธรรมดา แต่มีความหมายลึกซึ่งถึงเอกลักษณ์ของชาติไทยด้วย เพลงจอมราชจงเจริญ จึงยุติลงไม่มีการบรรเลงอีกต่อไป ได้มีผู้ค้นพบว่า ลาลูแบร์ ซึ่งเคยเข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเพลงไทยไว้เพลงหนึ่ง คือ “เพลงสายสมร” น่าจะนำมาดัดแปลงให้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีได้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงค้นโน้ตเพลงมาได้ และลองมาบรรเลง แต่รู้สึกไม่เหมาะกับการที่จะเป็นเพลงคำนับ “เพลงสายสมร” (จากโน้ตของลาลูแบร์) บรรเลงโดย กิตติ มหาปริยะ นักศึกษาปริญญาโททางด้านดนตรี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2535 ทดลองบรรเลงโดยอิเล็คโทน เพลงสายสมรมีท่วงทำนองที่เป็นไทยๆ ยังไม่มีความพร้อมที่จะเป็นเพลงบรรเลงคำนับ หรือเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีได้ ต่อมาได้มีการประกาศไปทั่วยุโรปใครสามารถแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีได้ ให้ส่งโน้ตมาเพื่อคัดเลือก เพื่อจะซื้อมาทำเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี มีชาวรัสเซีย “ปโยตร์ สชูรอฟสกี้” ได้ส่งโน้ตเพลงมาที่เมืองไทย เมื่อทดลองบรรเลงแล้วก็มีความพอใจ มีการแก้ไขเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมและสะดวกในการบรรเลง และได้บรรเลงครั้งแรกเมื่อ วันที่ 22 กันยายน 2431 ณ หน้ากระทรวงกลาโหม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จเปิดกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 6 มีบทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถึง 5 บท ตัวอย่างเพลงสรรเสริญพระบารมี ในสมัยรัชกาลที่ 5 และวิเคราะห์ให้ฟังเป็นท่อนๆ ไป “เพลงสรรเสริญพระบารมี” บทร้องที่ 1 ทรงนิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และบทร้องปรากฎอยู่ในบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่และตีคลีจบลง ทุกคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายพระเจ้าอยู่หัว ในทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีตามที่นายปโยตร์ สชูรอฟสกี้ ได้เป็นผู้แต่งทำนอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีเนื้อร้อง ดังนี้ อ้าพระนฤผจง ทรงศิริวัฒนา จงพระพุทธศา- สนฐิติยง ราชรัฐจงจีรัง ทั้งบรมวงศ์ ฑีรฆดำรง ทรงกรุณาประชาบาล ราชธรรม ธ รักษา เป็นหิตานุหิตศานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์บทร้องเพื่อนักเรียนชาย ร้องถวายรัชกาลที่ 5 โดยเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ ดังนี้ ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณกุมารา โอนศิรวันทา บรบทบงสุ์ ซร้องศัพท์ถวายชัย ในนฤปทรง พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณ ธ รักษา ชนนิกายะสุขศานต์ ขอบัลดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” บทร้องสำนวนสำหรับนักเรียนหญิงล้วน พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ บทร้องสำนวนนี้ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล เมื่อครั้งยังเป็น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ประกาศให้ใช้สำหรับนักเรียนชายหญิงขับร้อง ในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2446 ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณกุมารี โอนศิรชุลี วรบทบงสุ์ ซร้องศัพท์ถวายชัย ในนฤปทรง พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณ ธ รักษา ชนนิกายะสุขศานต์ ขอบัลดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” บทร้องสำนวนสำหรับนักเรียนชายหญิงขับร้องร่วมกัน บทร้องสำนวนนี้ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล เมื่อครั้งยังเป็น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ประกาศให้ใช้สำหรับนักเรียนชายหญิงขับร้อง ในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2446 ซึ่ง อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือพระวันพระเจนดุริยางค์ (ปติ วาทยะกร) ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุพยุพดี ยอกรชุลี วรบทบงสุ์ ซร้องศัพท์ถวายชัย ในนฤปทรง พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณ ธ รักษา ชนนิกายะสุขศานต์ ขอบัลดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” บทร้องสำนวนสำหรับทหาร ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นอีกสำนวนหนึ่งสำหรับทหารขับร้อง จะเห็นได้ว่า เปลี่ยน คำจาก ธ ประสงค์ใด เป็น พระประสงค์ใด และ จงสิทธิ์ดัง เป็น จงสฤษดิ์ดัง ดังเนื้อเพลงต่อไปนี้ ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าพิริยพล พลาสบสมัย กาละปิติกมล รวมนรจำเรียงพรรค์ สรรดุริยพล สฤติมณฑล ทำสดุดีแด่นฤบาล ผลพระคุณ ธ รักษา พลนิกายะสุขศานต์ ขอบันดาล พระประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ฉะนี้ ทั้งหมดเป็นเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่ร้องกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังคงจบลงด้วยคำว่า “ฉะนี้” ดุจถวายชัย ฉะนี้ ซึ่งถ้าร้องไม่ถูกต้องก็จะออกเสียงเป็น ดุจถวายชัย ชะนี ซึ่งไม่น่าฟัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จึงได้ทรงเปลี่ยน คำว่า “ฉะนี้” เป็นคำว่า “ชโย” สำหรับบทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ปรับปรุง จนเหมือนในปัจจุบัน และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) รัฐบาลยุคหนึ่งมีความคิดเห็นว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ยาวเกินไป และยกย่องพระมหากษัตริย์มากเกินไป จึงตัดส่วนหนึ่งออก คือตัดตั้งแต่คำว่า “บุญดิเรก เอกบรมจักรี พระสยามมินทร์ ยงพระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุชศานต์ ทำให้เพลงสรรเสริญพระบารมีในสมัยรัชกาลที่ 8 ระยะหนึ่ง จึงมีแต่เพียงว่า ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายไชย ชโย และในภายหลังก็ได้นำบทร้องเก่า พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ กลับมาร้องใหม่ ทั้งหมดคือความเป็นมาของเพลงคำนับเพลงแรกของชาติไทย คือ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ซึ่งเริ่มต้นจาก “เพลงจอมราชจงเจริญ” “เพลงสายสมร” และมาเป็น “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ซึ่ง “ปโยตร์ สชูรอฟสกี้” เป็นคนเขียนทำนองคนแรก และมีการปรับปรุงโดย “เฮวุดเซน” และหลายๆ ท่าน จนกระทั่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 42 หัวเรื่อง : เพลงสรรเสริญพระบารมี หัวเรื่อง : เพลงไทยสากลระยะแรกเริ่ม หัวเรื่อง : รายการเพลงไทยสากลจากอดีต ตอนที่ 42 ผู้จัดรายการ : พูนพิศ อมาตยกุล สถานที่จัดเก็บ : https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-42/