ขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์) (พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๕๑๙)

ขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์) (พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๕๑๙)

ขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์)

(พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๕๑๙)

 

ขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์) เป็นบุตรคนที่ ๔ และเป็นบุตรชายคนเดียวของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และนางพยอม ประสานศัพท์ เกิดที่บ้านตรอกไข่หลังวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ แขวงวัดเทพธิดาราม เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา ตรงกับวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้เริ่มเรียนหนังสือที่วัดเทพธิดาราม เมื่ออายุ ๘ ปี ออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ ๑๓ ปี บิดาได้นำมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ อายุได้ ๑๔ ปี

ขุนบรรจงทุ้มเลิศ เรียนดนตรีจากท่านพระยาผู้เป็นบิดา มีความสามารถเล่นปี่พาทย์ได้รอบวง และมีฝีมือปานกลาง ไม่ถึงขนาดเชี่ยวชาญจนลือชื่อแต่เป็นคนแม่นเพลง และมีความรู้ดี มีหน้าที่ตีระนาดเอกบ้าง ทุ้มบ้าง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ได้เพลงลงสรงมากกว่านักดนตรีคนอื่น ๆ จนได้ทำหน้าที่เป็นคนตีระนาดเอกเวลาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวลงสรง

วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนบรรจงทุ้มเลิศ รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๘ บาท อายุได้ ๒๔ ปี

ท่านได้แต่งงานกับนางสาวบุนนาค ปัญญางาม บุตรีนายซ่งกี่และนางหวุ่น ซึ่งเป็นคนอยู่ย่านประตูใหม่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ มีบุตรธิดารวม ๓ คน ชื่ออรุณ และนวรัตน์ เป็นหญิง เป็นชาย ๑ คน ชื่อชัชวาล

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้ถวายบังคมลาออกจากราชการ รับพระราชทานบำนาญ ในบั้นปลายชีวิตได้ใช้เวลาอยู่กับวงดนตรีไทยเสมอมาจนถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ รวมอายุได้ ๗๙ ปี

 

พูนพิศ อมาตยกุล

(เรียบเรียงจาก เอกสารทะเบียนประวัติ กรมมหรสพ สำนักพระราชวัง)

ที่มา : นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพูนพิศ อมาตยกุล, หัวหน้าโครงการ ; ผู้ร่วมโครงการ, พิชิต ชัยเสรี …[และคนอื่น ๆ].  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๖.